ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ “ค่าทำศพ” กรณีตายไม่เกี่ยวกับการทำงาน จาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 ก.ค. ให้เหมาะสมสภาวะเศรษฐกิจ ส่งเงินสงเคราะห์เสียชีวิตให้แก่ทายาทแบ่ง 2 กรณี ตามระยะเวลาจ่ายสมทบ
วันนี้ (3 ก.ค.) นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินค่าทำศพ ในกรณีที่ผู้ประกันตน ถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2563 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ให้มีการปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จากเดิม 40,000 บาท เพิ่มเป็น 50,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าทำศพให้กับผู้จัดการศพ ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2563 เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตนั้น ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย โดย สปส.จะจ่ายให้กับผู้จัดการศพ
นายทศพล กล่าวว่า สำหรับเงินสงเคราะห์กรณีตาย จะจ่ายให้กับบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน โดยการทำหนังสือระบุไว้ ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ สปส.จะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา สามีหรือภริยา และบุตร โดยจ่ายเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้ 1. ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน 2. ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทน ได้ภายใน 2 ปี
“การปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เป็น 50,000 บาท ในครั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด” นายทศพล กล่าว