xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบคลายล็อกเฟส 3 คนไทยรู้สึก “เครียด-หมดไฟ-ซึมเศร้า-อยากทำร้ายตัวเอง” เพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิต สำรวจพบ ผ่อนปรนเฟส 3 คนไทยและบุคลากรทางการแพทย์ เครียด-หมดไฟ-ซึมเศร้า-อยากทำร้ายตัวเอง เพิ่มขึ้น หลังลดลงช่วงคลายล็อกเฟส 1-2 เหตุกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ แต่เป็นนิวนอร์มัล พบยังกังวลเกีย่วกับโรค แม้ไทยไม่มีติดเชื้อในประเทศ แนะสร้างพลังใจด้วยอึดฮึดสู้

วันนี้ (17 มิ.ย.) นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ มีการสำรวจสภาพจิตใจคนไทยช่วงโควิด-19 มาแล้ว 6 ครั้ง คือ ช่วงเริ่มการระบาด ช่วงประกาศเคอร์ฟิว ช่วงสงกรานต์ ช่วงผ่อนปรนระยะที่ 1 ช่วงผ่อนปรนระยะที่ 2 และ ช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยสำรวจ 4 เรื่อง คือ ความเครียด ภาวะหมดไฟ ซึมเศร้า และทำร้ายตัวเอง พบว่า ในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงต้นปลาย พ.ค. 2563 พบว่า ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีภาวะเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า และทำรายตัวเองเพิ่มมากขึ้น

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า อย่างเรื่องความเครียด บุคลากรทางการแพทย์ มีความเครียดช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 7.9% เมื่อเทียบกับระยะที่ 1 อยู่ที่ 5.6% และระยะที่ 2 อยู่ที่ 4.8% แต่ยังน้อยกว่าช่วงเริ่มการระบาด ขณะที่ประชาชนทั่วไปเครียดมากขึ้นในช่วงสำรวจครั้งที่ 2 แต่ค่อยๆ ลดลง โดยผ่อนปรนระยะที่ 1 เครียด 2.9% ระยะที่ 2 เครียด 2.7% แต่ผ่อนปรนระยะที่ 3 เครียดเพิ่มขึ้น 4.2% ส่วน “ภาวะหมดไฟ” พบว่า ลดลงในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 แต่กลับเพิ่มขึ้นในผ่อนปรนระยะที่ 3 เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขเมื่อการระบาดลดลง ผู้ป่วยทั่วไปเรื้อรังกลับเข้ามา ทำให้ภาระงานมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนประชาชนเพราะคนไทยพยายามต่อสู้กับความยากลำบากต่างๆ


นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ด้านซึมเศร้า การผ่อนปรนระยะที่ 3 พบว่า บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บุคลากรสาธารณสุข เพิ่มจาก 1.4% เป็น 3% ประชาชนซึมเศร้าเพิ่มจาก 0.9% เป็น 1.6% เช่นเดียวกับความคิดอยากทำร้ายตนเอง ก็มีมากขึ้นในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 แต่ตรงนี้เพิ่มขึ้นไม่มาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 0.6% ในครั้งที่ 5 เป็น 1.3% ในครั้งที่ 6 ส่วนประชาชนเพิ่มจาก 0.7% ในครั้งที่ 5 เป็น 0.9% ในครั้งที่ 6 แต่ก็ต้องพึงระวัง ประเมินสถานการณ์เป็นระยะต่อไป

“ภาวะเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า อยากทำร้ายตนเอง ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 เนื่องจาก ยิ่งผ่อนปรนระยะที่ 3 ยิ่งกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ แต่เป็นปกติที่ไม่เหมือนเดิม เพราะต้องระวังมากขึ้น ไปห้างก็ต้องเช็กอิน ใช้บริการขนส่งสาธารณะก็ต้องเว้นระยะห่าง ต้องระวังตัวอยู่ เป็นเรื่องสำคัญทำให้คนไทยมีภาวะเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า” นพ.จุมภฏ กล่าวและว่า จะสังเกตได้ว่า ภาวะทางอารมณ์คนเราการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน แสดงว่า พวกเราหรือคนใกล้ชิดบางช่วงอาจดูเหมือนปกติ ก็ต้องสังเกตอารมณ์ปฏิกิริยาตนเองและคนรอบข้าง มีอะไรเครียด ซึมเศร้า อยากทำร้ายตัวเองหรือไม่ เช่น ซึมลง พูดน้อยลง หงุดหงิดมากขึ้น นอนไม่หลับ ใช้สารเสพติดมากขึ้น ถ้าเกิดอาการแบบนี้กับตัวเอง เห็นกับคนรอบข้าง ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือ โทร. 1323

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ส่วนการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ/สังคม พบว่า ทั้งบุคลากรและประชาชนรู้สึกกังวลว่าหากติดเชื้อแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนการรับรู้ข่าวสาร มีความกังวลเพิ่มขึ้นในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 แม้การระบาดเมืองไทยลดลง แต่การระบาดในกลุ่มคนไทยที่กลับจากต่างประเทศยังขึ้นๆ ลงๆ และข่าวสารการระบาดในต่างประเทศยังไม่ลดลง ทำให้คนไทยอาจจะยังกังวลอยู่ ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุข พบว่า มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นในระบบสาธารณสุขจังหวัดของตนเอง


ด้าน นพ.เทอดศักดิ์ เดชคง ผู้อำนวยการสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เราไม่ได้เจอวิกฤตโควิดแค่ครั้งแรก แต่อาจเคยเจอน้ำท่วม วิกฤตเศรษฐกิจมากมาย บางคนท้อแท้ บางคนดิ้นรนผ่านไปได้ บางคนก้าวหน้าขึ้น ซึ่งการปรับตัวก้าวข้าม เปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อเจอภาวะวิกฤต หลายครั้งรับมือด้วยวิธีคิดวิธีการบางอย่าง ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ จากการที่กรมฯ เรียนรู้จากบุคคลที่ผ่านพ้นวิกฤตมาเรียบเรียงรวบรวมเป็นวิธีการและทักษะบางอย่างที่เรียกว่า “พลังใจ” โดยมุมมองที่ทำให้เกิดพลังใจ มี 3 มุมมอง คือ 1. มองว่าเราไม่ได้เผชิญปัญหาคนเดียว คือ มีเพื่อนร่วมทุกข์ ก็จะรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เรายังมีเพื่อนและอาจผ่านพ้นไปด้วยกัน 2. มองว่าเมื่อเราปรับเปลี่ยนเรียนรู้อาจสร้างโอกาสสำคัญในชีวิตได้ เช่น ประหยัดมากขึ้น ทำงานเสริม 3. มองด้านบวก มองทรัพยากรสัมพันธภาพสิ่งดีงามรอบตัว

นพ.เทอดศักดิ์ กล่าวว่า พลังใจหมายถึงพลังที่ใช้ในการเผชิญปัญหาอุปสรรค เรียกง่ายๆ ว่า อึดฮึดสู้ โดย “อึด” หมายถึงเข้มแข็งอดทนมั่นใจตนเองเอาชนะอุปสรรคได้ “ฮึด” หมายถึงมีกำลังใจ มีแรงใจดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่มาจากคนรอบข้าง คนในครอบครัว คนที่เรารักเคารพ และ “สู้” หมายถึงเอาชนะอุปสรรค ปัญหาอาจต้องการวิธีคิดแก้ ทักษะการจัดการปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น