xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตกบ่อยๆระวังอย่าให้ลูกเป็นหวัดนะ/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย่างเข้าหน้าฝนกันแล้วจึงไม่แปลกที่ช่วงนี้บรรยากาศทั่วไปจะดูครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่บ่อยๆ หลายคนไม่ชอบฤดูนี้เอาเสียเลยเพราะนอกจากจะรู้สึกร้อนอบอ้าวและเดินไปทางไหนก็เจอแต่ความเฉอะแฉะจนทำอะไรได้ไม่สะดวกแล้ว แถมยังกลัวว่าถ้าลูกถูกฝนก็จะเป็นหวัดอีกด้วย

นับเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะคอยห้ามไม่ให้ลูกออกไปถูกฝนได้ทุกครั้งไป เพราะสำหรับเด็กๆ แล้วเวลาฝนตกคือประสบการณ์ที่ท้าทายและมอบความสนุกให้ไม่น้อย พร้อมกับคิดดังๆว่าอยากรู้จังน้ำเย็นๆหยดลงมาจากท้องฟ้าได้อย่างไร แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้วคงไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าสนุกสักเท่าไรนัก เพราะคิดว่าถ้าเจ้าตัวเล็กไปตากฝนมาคงต้องเป็นหวัดแน่ๆ ดังนั้น เพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่ จึงควรทำความเข้าใจก่อนดีกว่าว่าโรคหวัดนั้นเป็นอย่างไรกัน

การเจ็บป่วยและไม่สบายจากโรคหวัด หรือ Common Cold นั้น เป็นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กเล็กที่ยังไม่พ้นชั้นอนุบาลจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ทั่วไปและยังขาดความระมัดระวังในการดูแลสุขอนามัยที่ดี โดยเป็นการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะบริเวณโพรงจมูกและช่องปาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมักมีอาการเจ็บคอ คัดจมูกและมีน้ำมูกไหล ไอและจามที่ทำให้แพร่เชื้อไปติดต่อกับคนอื่นได้ ประกอบกับหายใจไม่สะดวก มีอาการอักเสบจนเป็นไข้ ปวดศีรษะและปวดเมื่อยเนื้อตัว โดยปกติร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เองจนหายจากโรคได้ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์

คุณพ่อคุณแม่สังเกตหรือไม่ว่าในช่วงที่กำลังกังวลอยู่กับโควิด-19 ซึ่งมีการแพร่กระจายเชื้อในลักษณะเดียวกันกับโรคหวัดนั้น ลูกของเราก็ไม่ค่อยป่วยเป็นหวัดเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการระมัดระวังป้องกันด้วยการดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัย ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับพื้นผิวหรือปล่อยให้ฝอยละอองที่มีเชื้อโรคอยู่เข้าสู่ร่างกายได้ จึงสามารถช่วยให้เด็กๆรอดพ้นจากการเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี

คำถามต่อมาคือทำไมน้ำฝนจึงทำให้เป็นหวัด อันที่จริงแล้วน้ำอะไรก็ทำให้เป็นหวัดได้หากร่างกายเปียกชื้นและมีอุณหภูมิลดต่ำลงมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกนั้นอากาศจะเย็นและมีความชื้นสูงซึ่งเชื้อโรคเติบโตได้ดี ประกอบกับมีลมพัดพาละอองฝนที่มักมีเชื้อไวรัสหลากหลายสายพันธุ์เกาะอยู่ให้ฟุ้งกระจายไปได้ไกล จึงมีลักษณะการแพร่เชื้อเช่นเดียวกับฝอยละอองของน้ำมูกและน้ำลายที่เกิดจากการไอและจาม เพิ่มโอกาสที่ฝอยละอองน้ำฝนจะพัดพาเชื้อโรคมาสัมผัสกับเยื่อเมือกบุผิวในโพรงจมูกหรือช่องปากมากขึ้น โดยสามารถเติบโตจนเข้าไปทำลายเซลล์ในเยื่อบุอวัยวะทำให้เกิดการอักเสบและแสดงอาการของโรคหวัดตามมา

เมื่อมีความเข้าใจดังนี้แล้ว การพาเด็กๆเลี่ยงจากการเดินฝ่าสายฝนหรืออยู่ให้ห่างจากละอองฝนเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหวัดนั้นจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่หากเลี่ยงไม่ได้หรืออยากปล่อยให้ลูกได้เล่นสนุกกับธรรมชาติเพื่อไม่ไปจำกัดการเรียนรู้และเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ใหม่ๆไปกับกิจกรรมท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาเบาๆบ้างในบางครั้ง ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในการลดความเสี่ยงจากการเป็นหวัดเมื่อต้องใช้ชีวิตในฤดูฝน

1.ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับการป้องกันโรคโควิด-19 คือรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ และสวมใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในที่ชุมชน พร้อมกับเว้นระยะหว่างจากคนอื่น เนื่องจากในฤดูฝนไข้หวัดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าช่วงเวลาอื่น วิธีการดังกล่าวจึงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่และลูกๆอยู่ห่างไกลจากโรคหวัดได้

2.ดูแลไม่ให้ลูกตากฝนบ่อยๆหรือถูกละอองฝนนานนัก โดยจัดเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนให้พร้อมเสมอ หากตัวเปียกให้รีบอาบน้ำและสระผมโดยหลีกเลี่ยงน้ำเย็น รีบเช็ดตัวและผมให้แห้ง เลือกใส่เสื้อผ้าที่รู้สึกอบอุ่น สบายและถ่ายเทอากาศได้ดี เข้านอนเร็วขึ้นเพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้โดยเร็ว

3.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่ควรชักชวนให้เด็กๆได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จัดเตรียมอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน ดูแลการรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและหลีกเลี่ยงอาหารทำลายสุขภาพ รวมทั้งจัดสรรเวลาให้กับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

4.ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและอาการของโรค รวมทั้งรู้จักวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งจะทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการใส่ใจดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม โดยไม่รู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลมากจนไปบั่นทอนสภาพจิตใจและก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา

แม้ว่าโดยปกติแล้วโรคหวัดจะไม่ได้มีความรุนแรงจนน่ากลัว และสามารถดูแลรักษาให้หายได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้ลูกถูกฝนบ่อยๆจนต้องเจ็บป่วยอยู่เรื่อยไปทำให้ร่างกายอ่อนแอพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้โรคอื่นๆแทรกซ้อนเข้ามาได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ต้องพยายามอย่าให้ลูกเป็นหวัดกันนะ


กำลังโหลดความคิดเห็น