ศน.เสนอเยียวยาศาสนสถาน 4 ศาสนา กว่า 8 พันแห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า จากการประชุมกรณีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านศาสนาทั้ง 5 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และ ซิกข์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือพระสงฆ์ สามเณร ที่เสนอโดย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการเยียวยาพระสงฆ์ สามเณร ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. เป็นค่าบริหารจัดการวัดและค่าใช้จ่ายภายในวัดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้งดจัดกิจกรรมและวันสำคัญทางศาสนาที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ส่วนอีก 4 ศาสนา (ศน.) ได้ทำการสรุปผลการสำรวจศาสนสถานที่อยู่ในความดูแล ทั้งโบสถ์คริสต์ มัสยิด เทวสถาน และ วัดซิกข์ ร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือรวมกว่า 8 พันแห่ง
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือของทั้ง 4 ศาสนา เนื่องจากไม่สามารถคำนวณระบุเป็นรายบุคคลออกมาได้เช่นเดียวกับคณะสงฆ์ที่พำนักอยู่ภายในวัด นอกจากนี้ มีบางศาสนายังแยกการสังกัด และมีเครือข่ายที่แตกต่างกัน จึงเห็นว่า ควรให้การช่วยเหลือไปยังองค์กรของแต่ละศาสนาเป็นผู้ดำเนินการ สนับสนุนไปเป็นค่าบริหารจัดการภายในศาสนสถานเช่นเดียวกันกับคณะสงฆ์ เป็นเวลา 3 เดือน โดยมอบหมายให้ ศน.กลับไปจัดทำแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ด้านต่างๆ แล้วนำกลับมาเสนอยังที่ประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
“ขณะนี้ได้มีการผ่อนคลายมาตรการ จึงมีประชาชนสอบถามถึงการจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนายังวัดต่างๆ เรื่องนี้คงต้องรอมติและความชัดเจนจากมหาเถรสมาคม (มส.) ว่า จะเปิดวัดจัดกิจกรรมทางศาสนาได้หรือไม่ ถ้ามีมติให้จัดในส่วนของ ศน.จะเตรียมความพร้อมจัดกิจกรรม และการจัดโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะกลับมาอีกครั้ง โดยใช้มาตรการ สธ. มาใช้อย่างเคร่งครัด สำหรับวันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษาปีนี้ ทาง ศน. ได้รับพุ่มเทียนพระราชทานเพื่ออัญเชิญไปถวายยังพระอารามต่างๆ กว่า 300 แห่ง รวมทั้งมีการหล่อเทียนพรรษายังไปยังวัดต่างๆ” นายกิตติพันธ์ กล่าว