xs
xsm
sm
md
lg

ฉันจำหน้าเธอไม่ได้ (Prosopagnosia)/ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีหลายสิ่งเกี่ยวกับตัวของเราที่ชวนให้รู้สึกแปลกใจได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างผ่านการจดจำใบหน้าของแต่ละคนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งช่วยให้เราตัดสินใจเลือกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่แสดงความคุ้นเคยต่อคนรู้จักหรือรักษาระยะห่างจากคนแปลกหน้าได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะอันโดดเด่นของรูปหน้าคนนี้ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมถอดรหัสเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวในเทคโนโลยีสมัยใหม่อีกด้วย

แต่หากว่าเมื่อถึงวันนึงแล้วเรากลับรู้สึกว่าการจดจำและแยกแยะความแตกต่างบนใบหน้าของคนรู้จักเป็นเรื่องที่ยากจนไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นใคร คำถามต่างๆก็เกิดขึ้นตามมามากมาย...

- รู้สึกหรือไม่ว่าหน้าตาทุกคนดูคล้ายกันไปหมด? แต่เสียงพูด ท่าทางและการแต่งตัวก็พอช่วยได้นะ!

- ทำไมยิ่งแต่ละคนแต่งตัวเหมือนๆกันแล้วยิ่งดูยากมากขึ้นไปอีกว่าใครเป็นใคร?

- ทำไมถึงมีคนบอกอยู่เสมอว่าเรามักจำคนผิดหรือแนะนำตัวบ่อยเหมือนไม่เคยเจอกันมาก่อน?

- ทำไมต้องกังวลที่จะต้องออกไปพบปะผู้คนที่คุ้นเคยด้วย? เพราะไม่แน่ใจว่าจะจำหน้าคนรู้จักได้?

- จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่สามารถแยกแยะและจดจำใบหน้าของคนรู้จักได้?

สมองของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนและมีขนาดต่อสัดส่วนของร่างกายที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่เรารู้จัก ซึ่งนั่นทำให้สมองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของคนเราในแทบทุกด้าน การสูญเสียความสามารถในการแยกแยะและประมวลภาพใบหน้านั้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับความผิดปกติมาตั้งแต่เกิดหรือเกิดความเสียหายจากอาการบาดเจ็บภายหลังของสมองเฉพาะส่วนรอยนูนรูปกระสวย (Fusiform Gyrus) บริเวณสมองกลีบขมับและท้ายทอยที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้และจดจำใบหน้า

ผลที่ตามมาคือ “ใบหน้าของคนอื่นที่เรามองเห็นหรือแม้แต่กับใบหน้าของเราเองดูจะเหมือนกันไปหมด เห็นความแตกต่างเพียงบางส่วนแต่ไม่สามารถปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน หรือเห็นภาพใบหน้าบิดเบือนไปจากปกติ จึงทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงการรับรู้และความจำที่มีต่อลักษณะเฉพาะบนใบหน้าของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้” ภาวะความผิดปกติในการรับรู้ใบหน้าอันเกิดจากความบกพร่องของสมองลักษณะนี้เรียกว่า “Prosopagnosia” ซึ่ง Joachim Bodamer นิยามจากภาษากรีกหมายถึง “ไม่รู้ใบหน้า”

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็น Prosopagnosia ตั้งแต่เกิดอาจไม่รู้ตัวเลยจนกว่าจะพบว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวนั้นเริ่มมีปัญหา ซึ่งแตกต่างจากคนที่การทำงานของสมองมีความบกพร่องในภายหลังจะรับรู้ถึงความผิดปกติได้ชัดเจนกว่า โดยมักมีภาวะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ ประเภท Apperceptive ซึ่งไม่สามารถรับรู้ใบหน้าของใครได้เลย แต่แยกแยะบุคคลได้โดยอาศัยองค์ประกอบอื่นช่วยจดจำ อาทิ เสียงพูด บุคลิกหรือลักษณะการแต่งตัว กับประเภท Associative ที่เห็นภาพความแตกต่างบนใบหน้าได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถเชื่อมโยงลักษณะเฉพาะตัวเพื่อระบุตัวตนของแต่ละบุคคลได้

ภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้ยังมาพร้อมกับข้อจำกัดในการรับรู้และความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นที่มักแสดงออกผ่านทางสีหน้าและแววตา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการวางตัวและตอบสนองต่อผู้อื่นให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ ประกอบกับการที่คนรู้จักหรือเพื่อนร่วมงานกลับกลายเป็นคนแปลกหน้าไปในทันทีที่ได้พบกันอีกครั้ง เมื่อเกิดสถานการณ์เหล่านี้ขึ้นซ้ำไปซ้ำมาจึงเป็นการสร้างความสับสนและความลำบากใจให้กับคนรอบข้างที่จะสานความสัมพันธ์ให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

เช่นเดียวกันกับผู้ที่ป่วยเป็น Prosopagnosia เมื่อทราบว่าตัวเองมีความผิดปกติทางสมองที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาที่แน่นอนนั้น แม้จะไม่มีปัญหาอาการบาดเจ็บทางร่างกายหรือส่งผลต่อการรับรู้และจดจำในเรื่องอื่นๆ แต่ผู้ป่วยหลายต่อหลายคนก็รู้สึกแปลกแยกและพยายามเก็บตัวออกห่างจากคนอื่นๆ เพื่อปกป้องตัวเองจากความอับอายและความผิดพลาดในการพบปะและทำความรู้จักกับผู้คน จนเกิดเป็นความรู้สึกทุกข์ใจและขาดความมั่นใจที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนอื่น

ถึงตรงนี้หลายคนคงเกิดความสงสัยว่าตัวเองอยู่ในข่ายของความผิดปกติในลักษณะนี้หรือไม่ เพราะมีบ่อยครั้งที่เราเองอาจหลงลืมหน้าคนที่ไม่ได้พบกันมานานหรือจำชื่อคนที่เพิ่งรู้จักไม่ได้ ซึ่งภาวะการหลงลืมหรือจดจำบางสิ่งบางอย่างไม่ได้นั้นยังอาจสัมพันธ์กับความสามารถในการจดจำที่แตกต่างกันของแต่ละคนหรือเกิดจากความบกพร่องจากการทำงานของสมองในส่วนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ใบหน้าก็เป็นได้ เบื้องต้นอาจลองทบทวนตัวเองด้วยการตอบคำถามในข้างต้นของบทความนี้เสียก่อน
หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีลักษณะการแสดงออกที่สัมพันธ์กับภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้แล้วก็ควรปรึกษาคุณหมอได้ทำการตรวจวินิจฉัยอาการความผิดปกติอย่างละเอียด แม้จะยังไม่รักษาให้หายได้แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวและฝึกฝนการจดจำในลักษณะอื่นที่จะเอื้อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด รวมทั้งสร้างการตระหนักให้คนรอบข้างมีความเข้าใจ พร้อมที่จะสนับสนุนและให้กำลังใจ ตลอดจนเต็มใจที่จะปรับตัวเข้าหากันเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

แม้โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองจะดูน่าเศร้าและน่ากลัวเสมอ แต่หากวันนึงต้องพบเจอแล้วทั้งผู้ป่วยและคนรอบตัวต้องปรับตัวปรับใจเข้าหากัน อย่าปล่อยให้ Prosopagnosia และความรู้สึกที่ว่า “ฉันจำหน้าเธอไม่ได้” มาทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น