xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ส่งนิติกรฟัน “คนเก็บหัวคิว” อ้างช่วยผ่านสมัครสถานกักตัวโควิด เผยร่วม Airbnb จัดที่พักฟรีบุคลากร-อสม. 200 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ส่งนิติกรแจ้งความเอาผิด “คนเก็บหัวคิว อ้างช่วยผ่านประเมินสถานที่กักกันของรัฐ ขออย่าหลงเชื่อ แจง สบส.จะลงไปตรวจสอบโรงแรมก่อนประกาศผ่านเว็บไซต์ ส่วนสถานกักตัวทางเลือกจ่ายเงินเอง ขายดีมี 303 ห้อง เหลือ 131 ห้อง จับมือ Airbnb เปิดที่พักให้บุคลากรแพทย์-อสม. ทำงานสู้โควิด ฟรี 200 แห่ง

วันนี้ (22 พ.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้ร่วมกับบริษัท Airbnb ที่เป็นบริษัทระดับโลกในการรับจองโรงแรมทั่วโลก จัดโครงการจัดหาที่พักแก่ผู้ปฏิบัติงานแนวหน้า (Frontline Stays) เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยนำร่องในไทยแล้ว 200 แห่ง เริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พักได้ 5 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 30 วัน เฉพาะช่วงโควิดเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีบ้านอยู่ไกล รพ. เพื่อลดการเดินทาง สะดวกมากยิ่งขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ หรือหากอยู่ที่บ้านแล้วมีพ่อแม่สูงอายุ อาจมีความเสี่ยงกับที่บ้าน ก็อาจเลือกที่พักแยกออกจากมาเหมือนการกักตัวเอง โดยพักที่โรงแรม หรือโฮมสเตย์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับคนในครอบครัว โดยบุคลากรสามารถลงทะเบียนได้ที่แอปพลิเคชัน Air bnb เว็บไซต์ Air bnb หรือ ประสานมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ อย่างไรก็ตาม มีที่พักร่วมโครงการแล้วกว่า 800 แห่ง เป็นที่พักที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย 200 แห่ง และที่เหลือเป็นที่พักในอัตราพิเศษ


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า โครงการนี้นำร่องในพื้นที่ กทม. เขตราชเทวี พญาไท คันนายาว และ บางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ รวมถึงบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนแพทย์ ส่วนภูมิภาค นำร่อง 13 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น พิษณุโลก นครราชสีมา กระบี่ ลำปาง อุตรดิตถ์ และพระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมือง และอาจจะขยายเพิ่มจังหวัดต่อไป ทั้งนี้ ผู้เข้าพักจะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ระหว่างที่เข้าพัก และเมื่อออกจากที่พักแล้ว เจ้าของที่พักจะต้องเว้นการเปิดบริการที่พักเป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาด สำหรับประชาชนที่ต้องการที่พักเพื่อลดความเสี่ยงของครอบครัว จะมีการหารือรายละเอียดในระยะต่อไป

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative Stage Quarantine) สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 4-6 หมื่นบาท โดยเป็นโรงแรมที่ผ่านการประเมิน และมี รพ.คู่สัญญา ที่ต้องมาให้การดูแลผู้อยู่ในที่พัก การตรวจหาโควิด-19 หากป่วยก็รักษา รวมถึงการรักษาโรคอื่นๆ ด้วย ปัจจุบันมีการรับรองแล้ว 4 แห่ง รวมห้องพัก 303 ห้อง แต่ปัจจุบันยังเหลือที่จะเข้าพักได้ 131 ห้อง

เมื่อถามถึงกรณีข่าวมีคนเรียกเก็บค่าหัวคิวในสถานที่พำนักในโรงแรมที่ทางรัฐจัดหา นพ.ธเรศ กล่าวว่า สธ.ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ตรวจสอบข่าวและบุคคลที่ปรากฏตามข่าว พบว่า บุคคลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสังกัด สธ.และกลาโหม จึงมอบหมายให้นิติกรของ สธ.ไปแจ้งความเอาผิดบุคคลดังกล่าว ขอเตือนว่า การดำเนินการโครงการนี้โดยส่วนของรัฐบาลมีพื้นที่ชัดเจน โดยให้โรงแรมประเมินคุณภาพตัวเอง และส่งชื่อเข้ามาที่ สบส. จากนั้นจะมีคณะทำงานร่วมระหว่าง สธ. และกลาโหม ออกไปตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานก่อนให้การรับรอง และประกาศผ่านทางเว็บไซต์ ฉะนั้นอย่าหลงเชื่อหากมีใครบอกว่า ช่วยอำนวยความสะดวกหรือไปทำให้เกิดการรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานที่

นายสาธิต กล่าวว่า คนที่ทำพฤติกรรมแบบนี้จะไม่มีการละเว้นทางกฎหมาย เพราะเป็นการบั่นทอนการทำงาน บั่นทอนสิ่งที่ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เรียนผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปแล้วว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่


กำลังโหลดความคิดเห็น