xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลุยปรับการแพทย์วิถีใหม่ ชู “ผู้จัดการคนไข้” ดูแลกลุ่มอาการดี เผย “ปัตตานี” ทำเต็มรูปแบบแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ปรับวิกฤตโควิด มุ่งสู่การแพทย์วิถีใหม่ เน้นปลอดภัย ลดแออัด เข้าถึงบริการคุณภาพ ไม่เหลื่อมล้ำ แบ่งกลุ่มคนไข้ตามระดับ จัดบริการเหมาะสม กลุ่มอาการดีสีเขียว มีผู้จัดการคนไข้-ผู้ประสานคนไข้ดูแล กลุ่มสีเหลืองปรึกษาแพทย์ผ่านออนไลน์ ช่วยหมอมีเวลาดูคนไข้หนัก เผย “ปัตตานี นำร่องทั้งจังหวัด ก่อนขยายทั้ง 12 เขตสุขภาพใน 1 ปี

วันนี้ (15 พ.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการแพทย์วิถีใหม่ช่วงโควิด-19 (New Normal of Medical Service) ว่า โรคโควิด-19 ติดต่อกันง่าย หากมีผู้ป่วยมากทรัพยากรอาจไม่เพียงพอ ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ นอกจากนี้ ยังกระทบผู้ป่วยปกติทั่วไปไม่สามารถมารับบริการได้ เช่น การผ่าตัด การทำทันตกรรม เป็นต้น ทำให้ต้องถูกเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของสังคมไทย คือ การเชื่อถือแพทย์ บุคลากรการแพทย์ และระบบสาธารณสุข ตรงนี้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นการแพทย์วิถีใหม่ได้ ซึ่งมีเป้าหมาย คือ 1. เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและบุคลากร โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างและปรับระบบการทำงาน เช่น ในการนัดหมาย เป็นต้น 2. เพิ่มระยะห่างทางสังคม ลดความแออัด โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นระดับ เขียว เหลือง แดง และจัดบริการที่ให้เหมาะสมแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มเขียว ใช้ระบบการแพทย์ไม่ต้องมา รพ. ใช้คำปรึกษา เป็นต้น ใช้เทคโนโลยีมาช่วย และ 3. เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน ลดเหลื่อมล้ำ เพื่อเข้าถึงบริการมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

“วิถีใหม่นี้จะทำให้หมอมีเวลากับคนไข้หนัก แก้ไขสถานการณ์หนัดให้เป็นเบา มีโอกาสให้คำปรึกษาคนไข้อาการปานกลาง เข้าถึงโดยระบบเทคโนโลยี คนไข้ระดับเบา ได้เรียนรู้ ศึกษาตัวเอง เปรียบเทียบข้อมูลมีอาการ สามารถติดต่อสถานพยาบาลเพื่อติดต่อหมอรับคำปรึกษาและรักษาตัวเองได้ตามการแพทย์วิถีใหม่” นายสาธิต กล่าว


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์พยายามเปลี่ยนการรักษาที่โรงพยาบาล (Hospitel Base) มาเป็นการรักษาที่ไหนเมื่อไรก็ได้ (Personal Base) ซึ่งเราพยายามมา 2-3 ปี แต่ยังไม่คืบหน้า การมีวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสในการปรับมาสู่การแพทย์วิถีใหม่ โดยเป้าหมายมี 3 ประเด็น คือ 1. เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ (2P Safety) เป็นเป้าหมายระยะสั้น เช่น ผ่าตัดวิถีใหม่ โดยเดิมเลื่อนการผ่าตัดกรณีไม่เร่งด่วน แต่ขณะนี้มีการโทร.แจ้งให้กลับมาดำเนินการ แต่ต้องทำให้ปลอดภัยทั้งคนไข้และแพทย์ โดยการตรวจเชื้อก่อน ส่วนจะต้องทำแบบนี้ต่อไปหรือไม่จะมีการประเมิน 1 เดือน หรือฉุกเฉินวิถีใหม่ ทันตกรรมปลอดภัย ซึ่งได้จัดทำรายละเอียดเสร็จแล้ว

2. การลดความแออัด เป็นเป้าหมายระยะกลาง ทำได้โดยแยกกลุ่มประเภทผู้ป่วยให้ชัดเจน “เขียว เหลือ แดง” หรือเป็นโรคเรื้อรังวิถีใหม่ แบ่งเป็น 1) กลุ่มสีเขียว คือ คุมอาการโรคเรื้อรังได้ดี เช่น เบาหวาน ความดัน จะผู้จัดการคนไข้ (Nuesw Manager) คอยดูว่าไม่ต้องมา รพ.แล้ว จากที่เคยมาทุกเดือนก็อาจมาปีละ 2 ครั้ง โดยพยาบาลอาจดูเองก็ได้ ทำให้แพทย์มีเวลาให้แก่คนไข้สีเหลือง สีแดงเพิ่มขึ้น 2) กลุ่มสีเหลือง อาจมีอาการเล็กน้อย แต่ยังไม่มีโรคแทรกซ้อน ก็จะมีผู้จัดการคนไข้ ซึ่งเป็นพยาบาล และผู้ประสานงานคนไข้ คือ อสม. จะลงไปเยี่ยมบ้านมีปัญหาอะไร อยากคุยกับแพทย์หรือไม่ ก็จะมีการปรึกษาด้วยเทเลเดิซีนผ่านวิดีโอคอล ซึ่งทุกวันนี้มีการดำเนินการแล้ว

และ 3) กลุ่มสีแดง คนไข้ต้องมา รพ. จะใช้ดิจิทัลมาช่วยในการจัดคิว ไม่ใช่คนไข้มาถึงตั้งแต่ 6 โมงพร้อมกันจะได้ไม่ต้องรอนาน อย่าง รพ.ราชวิถี เริ่มแล้วหากนัด 9 โมงครึ่ง ก่อน 9 โมงจะยังไม่ให้เข้ามาในคลินิกที่นัดไว้ แต่ให้ไปรอร้านกาแฟ หรือสวนของ รพ. เพื่อลดความแออัด ซึ่งการใเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบนัด จะทำให้ได้เวลาชัดเจนที่มา รพ. เช่น 09.45 น.มานั่งรอ 15 นาทีพอ กดดูต่อได้ว่าต้องไปที่ไหน ไปรับยา จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน ไม่ต้องหยิบจับธนบัตร

3. เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคนไข้ติดเตียงมักเข้าถึงบริการยาก ก็จะมีผู้จัดการคนไข้และผู้ประสานงานไปเยี่ยมบ้าน ถ้าจำเป็นจริงค่อยมา รพ.

“ทั้งหมดเริ่มแล้วในหลาย รพ. ทั้งหมดจะถอดบทเรียนไปทำกับ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศใน 1 ปีข้างหน้า เรารับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านองค์การอนามัยโลกมาทำเรื่องพวกนี้ และที่กรมการแพทย์ลงไปทำแล้วทั้งจังหวัด คือ ปัตตานี ทำตั้งแต่บ้านคนไข้ถึง รพ.จังหวัดเลย มาตรฐานเหล่านี้จะนำมาสู่การแพทย์วิถีใหม่” นพ.สมศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น