xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจนักรบเสื้อกาวน์หนึ่งในทีม ศบค. แพทย์หญิงสุมนีวัชรสินธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากวิกฤตสถานการณ์โรคCOVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกนั้น "นักรบเสื้อกาวน์" จึงเป็นที่กล่าวขานถึงความทุ่มเท เสียสละ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านการแพทย์ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายและปลอดภัยจากโรคดังกล่าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เช่นเดียวกับ “หมอติ๋ง” หรือ แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์รองผู้อำนวยการ (ด้านบริหาร) กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขศิษย์เก่าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รุ่น6ที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค.



การทำงานร่วมกับทีมโฆษกศบค.
แพทย์หญิงสุมนี เล่าว่า ช่วงที่โรคโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2563 ช่วงนั้นพอเริ่มมีเคสแรกที่มีผู้ป่วยยืนยันที่เป็นคนจีนเข้ามาที่สุวรรณภูมิ ขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะมีการประชุมในระดับผู้บริหารที่กระทรวงทุกวัน และตอนนั้นได้มีโอกาสเข้าประชุมกับทางทีมของกรมควบคุมโรคและผู้บริหารกระทรวง จนกระทั่งมีการจัดการเรื่องข้อมูลให้เป็นศูนย์เดียวในการที่จะส่งออกไปยังประชาชน จึงได้มีการจัดตั้ง ศบค. ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมสถานการณ์โรค และข้อมูลในการจัดการดำเนินการโรคทั้งหมดเพื่อแถลงที่เดียว
“เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาโดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ท่านจึงเลือกคุณหมอทวีศิลป์ เป็นโฆษกส่วนตัวเคยร่วมงานกับคุณหมอทวีศิลป์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากครั้งนั้นก็ได้มีโอกาสเจอคุณหมอตามที่ประชุมบริหารเรื่อยๆ คุณหมอทวีศิลป์จึงชวนให้เข้าไปช่วยทีมในเรื่องการจัดการเรียบเรียงข้อมูล”




ความยากง่ายในการทำงาน
การเตรียมข้อมูลในแต่ละวัน ตั้งแต่มีศบค. โดยสิ่งที่ทีมโฆษกได้รับมอบหมายนั้นต้องแถลงสถานการณ์ที่ทันต่อเหตุการณ์ทุกวัน และต้องเป็นข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งในการที่จะแถลงข้อมูลไม่ได้มีเฉพาะสถานการณ์โรคจากทางกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องรวบรวมมาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลจัดทำเพื่อที่จะมานำเสนอด้วย เพราะฉะนั้นส่วนประกอบของข้อมูลที่จะแถลงไม่ใช่แค่โรคแต่จะมีมาตรการ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีประมาณ 8 หน่วยงาน ซึ่งเราต้องขมวดรวมเป็นเนื้อหาในการแถลงต่อวันให้ทันก่อนเวลาแถลงคือ 11.30 น. เป็นส่วนที่ทำอยู่ทุกวัน นอกจากเรียบเรียงสถานการณ์โรคแล้ว ต้องเรียบเรียงมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่และผลที่เกิดขึ้น
ความยากง่ายในแต่ละวันคือเรื่องเวลา ข้อมูลจะมาใกล้ๆ ข้อมูลผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่จะตัดยอดในช่วงเที่ยงคืนของวันที่จะแถลง และเราจะได้ชุดข้อมูลประมาณตีสามตีสี่ และนำข้อมูลชุดนั้นมารวมกับสถานการณ์ของโรคว่า ตอนนี้เราอยู่อันดับที่เท่าไรของโลก เดิมทีก่อนที่จะมีศูนย์ ศบค. เราใช้ข้อมูลตัดตอน 7 โมงเช้าของทุกวัน และประชุม 7.30 น. ที่กระทวงสาธารณสุข แต่พอมีศูนย์ ศบค. เราจึงต้องนำตัวเลขที่ใกล้ที่สุดคือเวลา 10.30 น. ดังนั้น เราจึงต้องหาข้อมูลตรงนี้มาใส่ให้ทัน และมาตรการทั้งหมดต้องปรับเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลจะมาจากการที่ทำร่วมกันหลายหน่วยงาน เมื่อแถลงไปแล้วจะต้องมีความชัดเจนถูกต้อง กราฟไหนที่แสดงไปแล้วประชาชนดูรู้เรื่อง หน้าที่ของเราคือการสกรีนข้อมูลให้คุณหมอทวีศิลป์ (จริงๆ คือ อาจารย์ทวีศิลป์เก่งอยู่แล้วนะคะ บางทีเรายังมีสกรีนหลุด อาจารย์ก็จับได้แก้ไขทันตลอด)
ส่วนตัวหมอทวีศิลป์เป็นจิตแพทย์ และหมอติ๋งเองเป็นหมอที่ดูแลทางด้านโรคไม่ติดต่อ แต่เนื่องจากพื้นฐานความเป็นหมอจึงต้องทำความเข้าใจในการสื่อสารว่าจะสื่อสารออกไปอย่างไรให้เข้าใจง่ายและถูกต้อง ความยากก็คือต้องจัดการกับข้อมูลให้เสร็จภายในเวลา 11.30 น. และข้อมูลต้องไม่ช้ากว่าสื่อ






ความประทับใจที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีม ศบค.
ความประทับใจเรื่องแรก คือ ประทับใจคุณหมอทวีศิลป์ค่ะ นอกจากเรื่องวิชาการ เรื่องการสื่อสารให้กระชับ เข้าใจง่าย และสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญในเวลาจำกัดแล้วคือคุณหมอทวีศิลป์เป็นคนดีค่ะ ซึ่งนอกจากตัวเองแล้วทีมงานทุกคนคอนเฟิร์มค่ะว่าดีจริง เป็นคนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง เหมือนที่พระเคยเทศน์สอนไว้นะคะ ส่วนเรื่องที่สองคือ การทำงานนอกระบบสาธารณสุขในเรื่องของสื่อครั้งนี้เป็นความประทับใจคือเราได้มีโอกาสที่ได้ไปทำงานกับนอกวงการบ้าง ได้รู้ว่าเขามีระบบในการทำงานอย่างไร มีการจัดการแบบไหน เนื่องจากทีมที่ไปอยู่เป็นรายการสด ก่อนหน้านี้ส่วนตัวเคยไปรายการบันทึกเทปซึ่งเราสามารถเตรียมตัวกันได้ แต่เมื่อเป็นรายการสดทุกคนพร้อมที่จะช่วยกันหมด ได้ทำงานร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งนอกจะเป็นคนที่อยู่ในระดับปฏิบัติการแล้ว ยังมีระดับผู้อำนวยการ สำนัก และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ รองอธิบดี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำงานไว พอรีเควสก็จะช่วยทันที ซึ่งเป็นมืออาชีพจริงๆ สามารถที่จะทำให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ทำให้เราได้รู้ในโลกอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลกทางการแพทย์มากขึ้น






พูดถึง ม.รังสิต
ส่วนตัวเป็นแพทย์ ม.รังสิต รุ่น 6 ซึ่งจบมาแล้วกว่า 20 ปี ช่วงนั้นที่เรียนเป็นรุ่นแรกๆ ที่คนจบยังไม่มาก ข้อดีของการเรียนรุ่นแรกๆ คือพอคนน้อยแล้วงานหนักทำให้เรามีความอดทนกับการทำงานหนัก ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยและอาจารย์ ที่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนหมอ และจบมาได้มีโอกาสรับใช้สังคม
“ตั้งแต่เรียนจบมาก็เป็นหมอรักษาคนไข้มาโดยตลอด จนกระทั่งก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุขหมอก็ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ในแผนกเวชบำบัดวิกฤต ดูแลคนไข้ไอซียู หลังจากทำงานในโรงพยาบาลมาระยะหนึ่งจึงเข้ามาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งงานในกระทรวงก็จะแตกต่างกับงานในโรงพยาบาล จะเป็นงานที่เป็นนโยบายส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นงานเซอร์วิส แต่ไม่ว่าจะเป็นงานในโรงพยาบาลหรือในกระทรวง เราก็ได้ดูแลประชาชนได้รับใช้สังคมคือ ทำให้เราได้ทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง นี่คือเป็นเรื่องที่ดี ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยรังสิตที่ให้เราได้มีโอกาสเรียนตรงนี้และจบมาเป็นประโยชน์ให้กับสังคม”


ส่งกำลังใจถึงนักรบเสื้อกาวน์และประชาชน
อยากให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกๆ คน ปรับความคิดในช่วงนี้ว่าให้เราพยายามคิดว่าการที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นเป็นวิกฤตหนึ่งที่ทำให้เราสามารถที่จะมีโอกาสในการที่จะได้ดูแลคนอื่น ดูแลครอบครัว ดูแลคนไข้ ดูแลสังคม คือถ้าไม่มีโรคระบาดก็จะเป็นการทำงานรูทีนไปทุกวัน แต่พอวันที่มีโรคระบาดเราต้องคิดให้ได้ว่า นี่เป็นโอกาสที่จะทำงานในหน้าที่ของเราได้มากขึ้น เพราะว่าเราเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้โรคลดลง ในขณะเดียวกันนอกจากบุคลากรทางการแพทย์เองเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีความรู้ในการจัดการตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวเอง การดูแลตัวเอง มีการใช้ความรู้ของเราตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ เรามีโอกาสที่ดีแล้วเราต้องเปลี่ยนวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสให้เราได้ทำความดี เพราะฉะนั้น ทำดีอยู่แล้วก็ทำดีต่อไป สู้ต่อไปเถอะค่ะ แล้วบุญนี้จะกลับมาดูแลเราเอง





กำลังโหลดความคิดเห็น