xs
xsm
sm
md
lg

จ่อชง “อนุทิน” ลงนามถอด “จีน-เกาหลีใต้” เขตติดโรคโควิด ยันไทยประกาศฉุกเฉิน ไม่ทำให้เดินทางเข้าได้ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจงชงถอด “จีน-เกาหลีใต้” ออกจากประเทศเขตติดโรคโควิด เป็นความเห็น คกก.วิชาการ เหตุผู้ป่วยรายวันน้อยเหลือหลักเดียว ถอดแล้วไม่ทำให้คนเดินทางเข้าไทยได้ทันที จ่อเสนอ รมว.สธ.ลงนาม ส่วน อิตาลี และอิหร่าน ยังไม่ถอด แต่ไม่ต้องประกาศประเทศเพิ่ม ชี้ติดเชื้อไปกว่า 200 ประเทศ และไทยยังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมการเดินทางอยู่

วันนี้ (7 พ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อเสนอในการถอดประเทศจีนและเกาหลีใต้ออกจากประเทศเขตติดโรคติดต่อกรณีโรคโควิด-19 ว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นของคณะกรรมการวิชาการที่เห็นควรลดระดับ 2 ประเทศนี้ เนื่องจากประเทศเขตติดโรคโควิด-19 พิจารณาจาก 1. สถานการณ์ผู้ป่วยรายวันในประเทศนั้น โดยจีนและเกาหลีใต้ ผู้ป่วยรายวันน้อยลงมาก อยู่ในระดับเลขตัวเดียว 2. จำนวนคนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แม้จะถอดจีนและเกาหลีใต้ออก ก็ไม่ได้ทำให้คนจากทั้ง 2 ประเทศนี้เดินทางเข้ามาได้ทันที เพราะไทยอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นการดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์และข้อเท็จจริง โดยจากนี้คณะกรรมการวิชาการจะนำเสนอต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติลงนามประกาศต่อไป


ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถอดประเทศอิตาลีและอิหร่านด้วยหรือไม่ เพราะประกาศพร้อมกัน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศอิตาลียังมีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนอิหร่านแม้ผู้ป่วยรายวันจะดีขึ้น แต่ยังต้องพิจารณามาตรการด้านระบบสาธารณสุขและการป้องกันควบคุมโรคในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการติดตามจับตาสถานการณ์ใน 2 ประเทศอย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่าจำนวนผู้ป่วยรายวันลดลง คณะกรรมการวิชาการก็จะพิจารณาถอดประเทศดังกล่าวต่อไป

เมื่อถามว่า จะประกาศประเทศใดเป็นเขตติดโรคโควิด-19 เพิ่มเติมหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เดิมเราพิจารณาจากสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่นั้นๆ แต่วันนี้มีการติดเชื้อไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ถือว่ามีความเสี่ยงหมด แต่ในประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการควบคุมเรื่องคนเดินทางโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจ คือ มิ.ย.นี้ จะหมดระยะเวลาของการประกาศ จะทำอะไรต่อไป จึงต้องจับตาสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติม ทั้งนี้ หลัง มิ.ย.จะมีการเดินทางก็ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบภายใต้มิติการควบคุมโรคและการเดินทาง โดยสิ่งที่น่าห่วงคือการข้ามพรมแดนทางธรรมชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น