สสส. ร่วมมือกับเครือข่ายวิทยุสีขาว-วิทยุชุมชน ทั่วประเทศ สู้โควิด-19 ผ่านรายการ “หัวใจฟูสู้โควิด” สื่อกลางให้ความรู้ แบ่งปัน ฟื้นฟูดูแลครอบครัว ชุมชน เตรียมพร้อมชีวิตวิถีใหม่ จำนวน 200 โครงการ ครอบคลุม 42 จังหวัด
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา กล่าวว่า สสส. โดยแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ปรับแนวทางการทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องผ่านช่องทางสื่อต่างๆ โดย สสส.พัฒนา “นักสื่อสารสุขภาวะ” ที่มีศักยภาพและทักษะในการใช้สื่อและการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา แก้ไขปัญหาของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบ และนำไปสู่การมีภูมิรู้เท่าทันสื่อเท่าทันสุขภาวะ ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นักสื่อเสียงสุขภาวะสร้างคนไทยหัวใจฟู ได้แก่ ผู้ประกาศ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ ถือเป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Maker)” ที่สำคัญ ที่จะช่วยหนุนเสริมการทำงานป้องกันและควบคุมโรคในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ
“สถานีวิทยุเด็กและครอบครัว หรือ คลื่นวิทยุสีขาว ให้ความรู้ ความเข้าใจ มิติด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีเครือข่ายทำงานกว่า 200 คน และเชื่อมต่อกับวิทยุชุมชนกว่า 1,000 แห่ง เป็นกลไกพัฒนาเด็กและครอบครัวและเป็นช่องทางที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่ทันสมัย ถูกต้อง ทั้งวิธีการปฏิบัติตัว ทางเลือกการใช้ชีวิต ระยะห่างทางสังคม รวมถึงการสร้างบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) หรือชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิด-19” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นางสาวจันทิมา ตรีเลิศ ผู้รับผิดชอบโครงการเครือข่ายนักสื่อเสียงสุขภาวะสร้างคนไทยหัวใจฟู เพื่อความรอบรู้สุขภาพ กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการเครือข่ายนักสื่อเสียงสุขภาวะฯ ผ่านสถานีวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัว คลื่น FM 105 MHz และสร้างเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชนที่มีทักษะการเท่าทันสื่อและการสื่อสารสุขภาวะ จำนวน 200 โครงการ ครอบคลุม 42 จังหวัด ทั่วประเทศ มีบทบาทในการจัดกิจกรรมสื่อสารรณรงค์ในพื้นที่ จัดรายการวิทยุ และเชื่อมโยงสัญญาณสถานีวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัว ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สถานีวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัว คลื่น FM 105 MHz ได้ปรับรูปแบบรายการใช้ชื่อ “เดอะแฟมิลี่ หัวใจฟูสู้โควิด” และเครือข่ายวิทยุชุมชนจัดรายการ “หัวใจฟูสู้โควิด” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 13 เม.ย.เป็นต้นมา โดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยรู้สู้โควิด เน้น 5 ประเด็น คือ 1. เท่าทันสื่อ 2. การดำเนินชีวิต 3. ระยะห่างทางสังคม 4. การสร้างโอกาสในวิกฤต และ 5. ลดความเครียด ผลกระทบจากวิกฤต และเตรียมความพร้อมในการดูแลชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ โดยเครือข่ายวิทยุชุมชนจะลงพื้นที่แจกหน้ากากผ้า ให้ความรู้เรื่องโควิด สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง รวมถึงการช่วยลดข่าวลวง (Fake news) นำเสนอแต่ข้อมูลที่ถูกต้องด้านสุขภาพ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ต้องเข้าไปทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด
“ช่วงแรกๆ ชาวบ้านต่างจังหวัดไม่รู้เลย โควิดคืออะไรก็ต้องให้ข้อมูลความรู้เรื่องโควิดก่อน จากนั้นเราเห็นว่าคนก็เริ่มสุขภาพจิตไม่ดี เครียด เรื่องรายได้ จะทำอย่างไรในอนาคต นักจัดรายการก็จะขอข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสภาพจิตใจ ซึ่งมีการขอคำแนะนำที่จะสื่อสารในชุมชนอย่างไร” นางสาวจันทิมากล่าว นางสาวประภาพร สารีวงษ์ ผู้จัดรายการสถานีวิทยุท้องถิ่นไทย ก้าวหน้ากุมภวาปี FM 89.50
MHz จ.อุดรธานี กล่าวว่า จากการทำงานใกล้ชิดกับคนในชุมชน พบว่า ชาวบ้านมีความตื่นตัวต่อการระบาดของโควิด-19 มาก ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ล้างมือ รวมถึงหน่วยงานราชการ สาธารณสุขจังหวัด กลุ่มเครือข่ายวิทยุ สื่อท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่ ทำงานสอดรับร่วมกันอย่างเต็มที่ สำหรับวิทยุชุมชน FM 89.50 MHz เป็นหนึ่งในเครือข่ายสถานีวิทยุสร้างคนไทยหัวใจฟู มีการปรับรายการเป็นการให้ความรู้กับชาวบ้านประเด็นเกี่ยวกับโควิด-19 โดยนำเสนอข้อมูลที่รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ที่ชุมชนสนใจ รวมถึงการสื่อสารผ่านไลน์ และเคาะประตูบ้านสร้างความเข้าใจ