รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามมาตรการจัดระเบียบผู้โดยสารทางเรือ หลังจับมือกับกรมเจ้าท่าจัดระเบียบท่าเรือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งจำกัดผู้โดยสารเที่ยวละ 40-50 คนต่อลำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างและระยะห่างการยืนภายในเรือ
วันนี้ (24 เม.ย.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้ามาตรการจัดระเบียบผู้โดยสารทางเรือ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ณ ท่าเรือประตูน้ำ ซอยราชดำริ 1 เขตปทุมวันและเขตราชเทวี ว่า เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เชิญกรมเจ้าท่าร่วมหารือแนวทางการจัดระเบียบท่าเรือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตปทุมวัน และ เขตราชเทวี รวมถึงกรมเจ้าท่า จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจท่าเรือเพื่อวางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในช่วงนี้ได้รับแจ้งว่ามีผู้ใช้บริการเรือโดยสารภายในคลองแสนแสบลดลงเหลือเพียง 10% จากเดิมในสถานการณ์ปกติมีผู้ใช้บริการประมาณวันละ 60,000 คน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการวันละประมาณ 6,000 คน ทำให้การบริหารจัดการโดยรวมทำได้ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีผู้ใช้บริการจำนวนไม่มาก แต่อาจต้องมีการปรับในบางส่วน อาทิ ในบางท่าเรือที่มีขนาดเล็กยังไม่ได้ทำการแบ่งเส้นสำหรับการเว้นระยะห่างระหว่างที่ยืนรอเรือ รวมทั้งยังไม่มีจุดติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือยังอยู่ไม่ครบทุกท่าเรือ ซึ่งได้เรียนกับผู้แทนกรมเจ้าท่าแล้วว่าขอให้ดำเนินการให้ครบถ้วนทั้ง 28 ท่า
“รวมถึงปัญหาที่ประชาชนผู้ใช้บริการจะมายืนออกันเพื่อขึ้นและลงเรือ ได้ขอให้มีการจำกัดคนลงเรือในแต่ละเที่ยว อาจจะจำกัดเที่ยวละ 40-50 คนต่อลำ หากเกินจำนวนขอให้รอเที่ยวต่อไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างและระยะห่างการยืนภายในเรือ และให้บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2020) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจอดเรือรอรับ-ส่ง ให้นานกว่าปกติ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องมาออกันเพื่อแย่งกันลงเรือ จึงขอความร่วมมือกรมเจ้าท่าและบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2020) จำกัด ปรับการบริหารจัดการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนในช่วงระยะเวลานี้ เนื่องจากในอนาคตหากรัฐบาล หรือกรุงเทพมหานคร มีการผ่อนปรน ประชาชนก็จะกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่อาจจะยังมีผู้ติดเชื้ออยู่หรือยังเป็นพาหะนำโรคอยู่ จะควบคุมได้ลำบากกว่านี้ เนื่องจากประชาชนจะกลับมาใช้บริการเรือโดยสารจำนวนมากเหมือนเดิม อาจต้องมีการปรับแผนบริหารจัดการ อาทิ ขอให้เพิ่มความถี่ของจำนวนเรือที่เข้าเทียบท่า เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ต้องคอยนาน เป็นต้น ซึ่งหากมีการผ่อนปรนกรุงเทพมหานครจะลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งเพื่อหาแนวทางในการปรับแผนบริหารจัดการให้มีความเหมาะสมและมีความปลอดภัยแก่ประชาชนต่อไป” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว