สปสช.เผย ผู้ป่วยโควิด 80% เป็นสิทธิบัตรทอง ระบุ ค่ารักษาเบิกจ่ายตามสิทธิสุขภาพ แต่ใช้หลักเกณฑ์อัตราจ่ายให้ รพ.เรตเดียวกัน ส่วนค่าตรวจคัดกรองโควิด สปสช.รับผิดชอบทั้งหมดทุกคนทุกสิทธิ เผยอยู่ระหว่างชง “อนุทิน” เซ็นประกาศให้ รพ.ใช้งบค่าเสื่อมในโรคโควิดได้
วันนี้ (21 เม.ย.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด สปสช.มีการทำมาตรการเชิงรุก 7 ด้าน คือ 1. ส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ 2. ขยายรับยาใกล้บ้าน เช่น ร้านขายยา 3. ผู้ป่วยรับยาหรือใช้บริการนอกหน่วยบริการประจำได้ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะไม่สามารถเดินทางกลับข้ามจังหวัดได้ 4. จ่ายค่าชดเชยบริการโรคโควิด-19 ให้หน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น รพ.เอกชน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายที่มีการออกประกาศไป ช่วยให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
5. จ่ายค่าชดเชยค่าบริการกรณีโรคโควิด-19 รพ.สนาม หรือ Hospitel ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะ โดยอัตราจ่ายอยู่ที่ 1,500-2,500 บาทต่อคืนต่อห้อง ทำให้มีความมั่นใจสำหรับหน่วยบริการว่าเตียงผู้ป่วยหนักๆ เก็บไว้ให้ผู้ป่วยหนักได้ ถ้าดีขึ้นก็ให้ไปนอน Hospitel ซึ่งการจ่ายแต่ละกองทุนจะจ่ายเองในอัตราเดียวกัน 6. เสนอ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช.ให้แก้ไขประกาศเพิ่มเงื่อนไขปรับปรุงงบค่าเสื่อมสิ่งก่อสร้าง/ครุภัณฑ์ มาใช้เรื่องของโควิด เช่น ปรับปรุงห้องความดันลบ ซื้อครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรค ทำให้ รพ.มีเงินดำเนินการรักษาพยาบาลประชาชน โดยอยู่ระหว่างรอการลงนาม และเพิ่มอัตราจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นบุคลากรทางการแพทย์และ อสม.ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่า และ 7. ให้เลขาธิการ สปสช.พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์อัตราค่าใช้จ่ายและการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยบริการ เพื่อทันต่อสถานการณ์การระบาด
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับการคัดกรองโควิด-19 สิทธิบัตรทองครอบคลุมดูแลคนไทยทุกคนทุกสิทธิ เน้นตรวจเร็ว ควบคุมเร็ว ยุติการแพร่ระบาดเร็ว ซึ่ง สปสช.จะเป็นผู้จ่ายค่าตรวจตรงนี้ เช่น อย่างกรณีการตรวจเชิงรุก (Active Case Finding) ซึ่งปัจจุบันไทยเริ่มมีการตรวจแล็บเพิ่มขึ้นเป็น 151,640 ครั้งทั่วประเทศ โดยช่วง 10 กว่าวัน มีภาคเอกชนช่วยตรวจแล็บถึง 4.6 หมื่นครั้ง หรือ 31% นอกจากนี้ สปสช.ยังสนับสนุนระบบสุขภาพชุมชนให้ใช้กองทุนสุขภาพตำบล ที่มีงบหมุนเวียน 3.5 พันล้านบาท ก็สามารถขอใช้งบตรงนี้มาทำโครงการเกี่ยวกับโควิดได้ ซึ่งขณะนี้ อปท.ได้จัดทำโครงการควบคุมและป้องกันเกี่ยวกับโควิดจำนวน 3,264 แห่ง รวม 8,220 โครงการ เป็นงบ 518.23 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 นั้น พบว่า ประมาณ 80% เป็นผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)