หมอตอบชัดถึงคนไทยที่ถามประเทศทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ชี้ ไทยประสบความสำเร็จควบคุมโควิด-19 ด้วยหลากมาตรการที่ประเทศอื่นก็ลอกเลียนไม่ได้ เผย คนชาติอื่นก็ถามประเทศตัวเอง ทำไมไม่ทำอย่างไทย ทั้งมี อสม.ล้านคน คนใส่หน้ากากผ้าจำนวนมาก วางเจลแอลกอฮอล์ทั่วถึง คนอยู่บ้านทั้งที่ไม่มีคำสั่งห้าม คนมีน้ำใจออกมาช่วยเหลือกัน ย้ำ แต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามต้นทุน
วันนี้ (19 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการเดียวในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 อย่างการปิดเมือง ปิดสถานที่เสี่ยง แต่เราใช้มาตรการจำนวนมากหลากหลายควบคู่กันไป ทั้งมาตรการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการด้านการแพทย์ มาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล มาตรการบังคับปิดกิจการและสถานที่เสี่ยง มาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) มาตรการจำกัดการเดินทาง และ มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ ไม่มีประเทศไหนเหมือนกันทุกประการ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราทำงานประสบความสำเร็จด้วยวิธีการที่ผสมผสานหลายวิธี ประเทศไทยประสบความสำเร็จไม่เหมือนประเทศอื่นๆ แต่จำนวนผู้ป่วยของเราตอนนี้ ก็เริ่มชะลอตัวลง และลดลงได้ดีระดับหนึ่ง
“ขณะที่เราตั้งคำถามถามประเทศว่า ทำไมตรวจน้อย ทำไมไม่ใช้แอปพลิเคชัน หรือเทคโนโลยีขั้นสูง มาทำโน่นนี่ ทำไมไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะที่ถามคำถามเหล่านี้ก็มีประชากรประเทศอื่นตั้งคำถามประเทศเขาเหมือนกันว่า ทำไมไม่มี อสม.ล้านคน ทำไมไม่มีนักระบาดวิทยาที่มีความรู้ความสามารถ มีนักปฏิบัติการทางแล็บที่มีความสามารถและทุ่มเทการทำงานที่เพียงพอ ทำไมคนของเขาไม่ใส่หน้ากากผ้ามากเท่าประเทศเรา ทำไมคนของเขายังออกนอกบ้านทั้งที่มีการประกาศห้าม ขณะที่คนของเราอยู่ในบ้านทั้งที่ไม่มีประกาศห้าม ทำไมบ้านเขาไม่มีเจลแอลกอฮอล์วางอยู่อย่างทั่วถึง ทำไมคนบ้านเขาไม่มีคนมีน้ำใจออกมาแจกข้าวของจำเป็น ดังนั้น ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน ความสำเร็จของเราก็เป็นความสำเร็จที่ประเทศอื่นก็ลอกเลียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น อยากให้เข้าใจว่า มาตรการแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะต้นทุนของแต่ละประเทศแตกต่างกัน” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิด-19 ขณะนี้ได้มีการปรับจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ของเดิมที่ลงไป บางคนอาจไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงๆ เช่น บางคนทำหน้าที่ธุรการใน รพ. ก็มีการปรับเรื่องอาชีพออกให้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น จนถึงเมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 101 คน โดยเป็นพยาบาล 40% แพทย์ 19% โดย 74% มีความเสี่ยงเนื่องจากเป้นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง 15% ติดเชื้อจากผู้ร่วมงาน 10% ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน