ม.มหิดล แนะ “ดนตรีบำบัด” ทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้เยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤต Covid-19
อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ดนตรีจะช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลจากสถานการณ์วิกฤต Covid-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ โดยดนตรีจะช่วยสร้างบรรยากาศความผ่อนคลายให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย เวลาเราฟังเพลง ดนตรีจะช่วยให้สมองเราหลั่งสารแห่งความสุข หรือ “โดปามีน” ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการนอนหลับได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
พร้อมกันนี้ ขอแนะนำหลักการเลือกฟังเพลงเพื่อการบำบัด ว่า ให้เลือกเพลงที่ชอบที่สุด อาจจะเป็นเพลงร้อง หรือเพลงบรรเลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล วิธีที่ช่วยการผ่อนคลายได้ดี คือ การฝึกการหายใจไปพร้อมกับเสียงเพลงบรรเลงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย อาจเป็นเพลงที่มีเสียงธรรมชาติควบคู่ไปด้วย โดยฝึกหายใจเข้านับ 4 วินาที แล้วกลั้นไว้ 4 วินาที จากนั้นหายใจออกนับอีก 4 วินาที จะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกายทำให้เรารู้สึกสดชื่นขึ้น เวลาหายใจให้เราเอามือวางที่อกของตัวเอง เพื่อสัมผัสการเคลื่อนไหวไปด้วยจะทำให้เราสามารถจดจ่ออยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น และจะเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทำให้เราได้หลุดออกจากความเครียดและวิตกกังวลในชีวิตประจำวันได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาซึมเศร้า ให้ระวังในการเลือกฟังเพลงด้วย ไม่แนะนำให้ฟังเพลงที่ ตอกย้ำหรือทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก
“ขณะนี้นักศึกษาเอกดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้แบ่งปันเพลง และการเล่นดนตรีของตัวเองผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยหวังให้เพลงของพวกเรามีส่วนช่วยให้คนไทยผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยรักและสันติสุข ติดตามได้จาก FB: College of Music, Mahidol University และทางสาขาดนตรีบำบัด ได้เปิดให้บริการดนตรีบำบัดออนไลน์เพื่อช่วยเยียวยาจิตใจในช่วงวิกฤต Covid-19 สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและผู้สูงอายุ ติดตามได้จาก FB : Music Therapy Thailand” อาจารย์วิพุธ กล่าว