xs
xsm
sm
md
lg

กทม.สั่งปิดร้านค้า-ร้านสะดวกซื้อ-รถเข็นที่ขายเกิน 24.00 น. ปิดเที่ยงคืน-ตี 5 มีผลคืนนี้ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ประกาศให้ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชวห่วย ร้านขายของใช้ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านอาหาร รถเข็น รวมถึงร้านค้าแผงลอย เปิดได้ 05.01 ถึง 24.00 น. มีผลทันทีคืนนี้

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าได้เชิญคณะกรรมการทั้ง 26 คน มาหารือในรายละเอียด โดยที่ประชุมไม่เห็นด้วยในการอนุญาตให้เปิดร้านหรือศูนย์ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากมองว่าจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ดังนั้นจึงมีมติไม่ให้เปิดศูนย์บริการและร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ


นอกจากนี้ยังมีมติให้ร้านค้าทุกร้านค้า ปิดทำการตั้งแต่เวลา 24.00-05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยจะมีผลบังคับตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป


ส่วนเรื่องจะมีการออกประกาศเพิ่มเติมในข้อกำหนดต่างๆ อย่างไรนั้น จะต้องรอการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ก่อน ในเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวต่อว่า ยืนยันว่า กทม.จะไม่ประกาศเคอร์ฟิว เพราะการประกาศเคอร์ฟิวไม่ใช่อำนาจของ กทม. แต่เป็นอำนาจของ ศบค.ที่จะดำเนินการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งในตามต่างจังหวัดที่ประกาศออกมานั้นไม่ได้เป็นการเคอร์ฟิว แต่เป็นการขอความร่วมมือให้ประชาชนไม่ออกจากบ้านหรือออกจากบ้านน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ได้รับการประสานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ในการตั้งด่านตรวจคัดกรองทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ แต่จะเพิ่มอีกกี่จุดนั้น บชน.จะเป็นให้รายละเอียดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม กทม.ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวอย่างเคร่งครัด ลดการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการรวมตัวของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้อยู่ที่บ้าน ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อแล้วแสดงอาการน้อยมาก หรือไม่แสดงอาการเลย ซึ่งนโยบายที่จะลดการทำงาน ให้ทำงานที่บ้าน หรือให้หยุดงาน อาจจะต้องเข้มข้นขึ้นเพื่อลดโอกาสที่กลุ่มคนดังกล่าวจะแพร่กระจายเชื้อโรคต่อ และหากมีความจำเป็นหรือสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การเคลื่อนย้ายคน หรือการเคลื่อนย้ายในรูปแบบต่างๆ อาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้นด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น