xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งเป้าลดป่วยโควิด-19 รายใหม่ เหลือหลักสิบ ขอทุกคนช่วยอยู่กับบ้าน หากยังเพิ่มวันละ 100 ราย สิ้น เม.ย.จะมีผู้ป่วยถึง 3.5 พันราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.คาด หากมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 100 รายต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. ไทยจะมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 3,500 ราย แจงจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาจาก 3 กลุ่ม คือ ผับบาร์ สนามมวย และกลับจากพิธีทางศาสนา ย้ำ หากเดินหน้าช่วยกันอยู่บ้าน ลดออกไปแพร่เชื้อ ไม่มีกิจกรรมชุมนุม สังสรรค์ จนลดผู้ป่วยรายใหม่เหลือแค่หลักสิบ ผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงยิ่งกว่านี้

วันนี้ (26 มี.ค.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังวันที่ 15 มี.ค. 2563 เป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย ที่มีรายงานผู้ป่วยใหม่จากหลักสิบเป็นหลักร้อย โดยช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ก็คงตัวในหลักร้อย โดยวันที่ 26 มี.ค. เพิ่มขึ้น 111 ราย ส่วนวันก่อนหน้านี้ก็อยู่ที่ 107 ราย 106 ราย และ 122 ราย ส่วนที่เพิ่มขึ้นวันแรกเป็น 188 รายนั้น มีเหตุผล คือ ก่อนหน้านี้ การรายงานผู้ป่วยยืนยัน จะใช้ผลแล็บ 2 ที่ ยืนยันตรงกัน จึงมีเคสที่รออยู่ก่อนหน้าประกาศ พอวันที่ 22 มี.ค. เป็นต้นมา ใช้ผลการตรวจ 1 แล็บ ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมารวดเดียวเป็น 188 ราย อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ป่วยในประเทศไทยเกิน 1 พันคนแล้ว ไม่ได้อยู่ในความคาดหมายของเรา เพราะการที่ผู้ป่วยมีจำนวนมากนั้นมาจากการติดเชื้อมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มผับบาร์สถานบันเทิง ที่เกิดขึ้นก่อน ตามด้วยสนามมวย และกลุ่มที่กลับจากพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 

นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นจำนวน 100 กว่ารายต่อวัน และถ้าตัวเลขยังเป็นเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. คาดว่า ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,500 ราย ซึ่งหลังจากประกาศมาตรการฉุกเฉิน โดยมีการปิดสถานที่หลายๆ แห่ง เพื่อให้คนอยู่กับบ้าน มีระยะห่างทางสังคม ไม่ไปร่วมในที่ชุมนุมกัน ถ้าทำตรงนี้ได้อย่างเข้มแข็งจริงจัง ก็คาดหวังว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงมาเหลือหลักสิบ หากกดลงมาได้ประมาณนี้ก็พอใจ แนวโน้มผู้ป่วยทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ก็จะลดลง ก็คาดหวังว่าประเทศไทยยอดผู้ป่วยจะไม่ถึง 3,500 ราย

เมื่อถามว่า การเจอผู้ป่วยใหม่วันละ 100 ราย ศักยภาพของเตียงจะเพียงพอรองรับหรือไม่  นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า เรามีข้อมูลแล้วว่าภายใน มี.ค.ต้องมีกี่เตียง และมีการมองไปถึง เม.ย.แล้ว ซึ่งถ้าเป็นตัวเลข 3,500 คน ก็สามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตาม เราต้องพยายามหน่วงไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราต้องช่วยให้คนตระหนักเรื่องของการอยู่บ้านลดเชื้อเพื่อชาติ แต่ก็ยังสามารถไปซื้อของกินของใช้ได้ เพราะไม่ได้ปิด แต่แค่ไม่ให้มีการสังสรรค์ ไม่ชุมนุม และมีระยะห่างต่อกัน

นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยยืนยันในกลุ่มก้อนของสนามมวย ซึ่งรวมทั้งผู้ที่เดินทางไปสนามมวยโดยตรง และผู้ที่สัมผัสจากผู้ที่ไปสนามมวย ในพื้นที่กรุงเทพฯพบผู้ป่วย 86 ราย จังหวัดอื่นๆ 67 ราย ในกลุ่มผู้ที่ไปสนามมวยโดยตรง มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ถึงมากกว่า 70 ปี นอกจากนี้ พบว่า มีผู้ที่ติดเชื้อจากกรณีสนามมวย โดยไม่ได้เดินทางไปสนามมวยโดยตรง แต่ติดจากการสัมผัสผู้ป่วยที่ไปสนามมวยด้วย โดยพบอายุน้อยสุดต่ำกว่า 10 ปี และอายุสูงสุดคือมากกว่า 70 ปี เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการพบผู้ป่วยที่เป็นผู้สัมผัสจากผู้ป่วยที่ไปสนามมวยมาโดยตรง ซึ่งจำนวนต่อวันพบกลุ่มเด็กมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นการแพร่เชื้อเข้าสู่บ้าน จึงต้องมีการเข้มเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างของคนในบ้านด้วย

นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ที่มีตัวเลขผู้ป่วยและอัตราแพร่เชื้อสูงที่สุดแล้ว อีกพื้นที่ที่มีความน่ากังวลมากกกว่าพื้นที่อื่นๆ คือ จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่พัทลุงลงไป หรืออยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเขตสุขภาพที่ 12 เนื่องจากมีการพบผู้ป่วยจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ กลับจากสนามมวย และการไปร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย โดยวันที่ 18 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยในพื้นที่ 16 ราย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ สงขลา ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพิ่มเป็น 80 ราย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง และ ตรัง จะเห็นว่า ในช่วง 7 วันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 64 ราย ทำให้มีอัตราแพร่เชื้อใน 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และ ภูเก็ต อยู่ที่ 1 ต่อ 2.2 คือ 1 คนแพร่ไปได้อีกราว 2 คน อัตราแพร่เชื้อสูงรองจากกรุงเทพฯอยู่ที่ 1 ต่อ 3.4 และจังหวัดอื่นๆอยู่ที่ 1 ต่อ 1.8






กำลังโหลดความคิดเห็น