xs
xsm
sm
md
lg

อย่าทิ้งเด็กไว้ข้างหลังในวิกฤติCOVID-19 !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติCOVID-19 รายวัน รายชั่วโมง ผู้คนต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งในและต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวในแต่ละวันสร้างความอกสั่นขวัญแขวนไปทั่ว ทั้งยังคอยลุ้นคอยตามมาตรการต่างๆของภาครัฐทั้งบ้านเราและทั่วโลกด้วยใจจดจ่อ เรียกว่าติดตามกันแทบทุกอณู เพราะวิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องสุขภาพ จึงทำให้ผู้คนวิตกและหวาดผวามากกว่าทุกเรื่อง ยิ่งถ้าไม่มีความชัดเจนต่อมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่น จึงทำให้เกิดเหตุการณ์หวั่นไหวทั้งกักตุนอาหารทั้งถามหาเครื่องมือ อุปกรณ์ความปลอดภัยในการเข้าถึงอย่างทั่วถึง และยิ่งโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยปลายนิ้ว ยิ่งทำให้เกิดทั้งข่าวสะพัด จริงมั่ง ลือมั่ง มั่วมั่ง ฯลฯ

และสุดท้ายก็มักจบด้วยความเครียด

จริงอยู่การระบาดของโรคCOVID-19 ครั้งนี้ ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ผู้สูงวัย และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งดูเหมือนเด็กจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แม้จะทำให้คนเป็นพ่อแม่โล่งใจได้บ้าง แต่ก็ยังไม่อยากวางใจเพราะนี่คือการอุบัติของโรคใหม่ ที่มนุษย์ยังต้องเรียนรู้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานมีข่าวต่างประเทศจากประเทศนอร์เวย์ที่สร้างรอยยิ้มขึ้นมาได้ท่ามกลางความเครียด และสะท้อนความคิดของผู้นำที่เห็นถึงความอ่อนโยนและคุณค่าของเด็ก

นายกรัฐมนตรีแอร์นา โซลเบิร์ก (Erna Solberg) ของประเทศนอร์เวย์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีกระทรวงครอบครัวและเด็ก ได้จัดงานแถลงข่าวตอบคำถามเด็กๆ ที่ถูกส่งผ่านทางรายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์สำหรับเด็ก เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งงานแถลงข่าวนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนที่เป็นผู้ใหญ่เข้าร่วม

คำถามที่ส่งเข้ามามีตั้งแต่

“ผม(หนู)จะยังจัดงานวันเกิดได้ไหม”

“จะไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าหลังไปเที่ยวห้างได้หรือเปล่า”

“ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะผลิตวัคซีนได้”

หรือแม้แต่ “ผม(หนู)จะช่วยอะไรได้บ้าง

นอร์เวย์ได้ใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินปิดหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงโรงเรียนและโรงเรียนอนุบาล เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19


เด็กๆ นอร์เวย์ส่วนใหญ่จะต้องอยู่ที่บ้านและต้องงดพบปะเพื่อนฝูงและญาติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ส่วนลูกของผู้ที่ประกอบอาชีพสำคัญ เช่น พยาบาลและแพทย์ ยังไปโรงเรียนและโรงเรียนอนุบาลได้อยู่

นอกจากตอบคำถามแล้ว นางโซลเบิร์กยังกล่าวปลอบใจเด็กๆ ว่า “ไม่เป็นไรที่จะรู้สึกกลัวเวลาที่มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน"

"แม้ว่าโรงเรียนหรือพ่อแม่ของพวกหนูจะติดเชื้อ แต่มันจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี"

"การพวกหนูอยู่ที่บ้านก็เท่ากับว่ากำลังช่วยไม่ให้คนอื่นติดเชื้อหรือล้มป่วยแล้ว มันสำคัญมากๆ สำหรับผู้ที่ไม่สบายอยู่แล้วหรืออายุเยอะมากๆ”

ข่าวชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้นำมองเห็นความสำคัญของเด็ก

และข่าวชิ้นนี้เด็กได้อะไร ?

ประการแรก - สร้าง Self Esteem ให้กับเด็ก
การที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของเด็ก ส่งผลโดยตรงที่ทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองความคิดเห็นที่มีต่อตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตของพวกเขา รวมถึงการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่มี Self Esteem สูงนั้นจะมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองในแง่บวก ในทางกลับกัน การมี Self Esteem ต่ำจะส่งผลให้รู้สึกแย่และมีมุมมองความคิดต่อตัวเองในแง่ลบ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กๆ อย่างแน่นอน

ประการที่สอง - สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก
ในสถานการณ์วิกฤติ การให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้รู้ว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เขามีเสียง และผู้ใหญ่รับฟังเด็กๆ เท่ากับเป็นการสร้างรากฐานการรับฟังซึ่งกันและกัน แม้วัยจะแตกต่าง แต่ทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมร่วมกัน

ที่สำคัญจะทำให้เด็กหันมาสนใจเรียนรู้เรื่องโรคระบาด ที่มาที่ไป การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความรู้รอบตัวที่จำเป็นที่เด็กๆ ควรได้เรียนรู้ เพราะให้โลกอนาคต พวกเขาต้องเติบโตขึ้นไปในโลกที่อาจเกิดโรคอุบัติใหม่ได้อีก รวมไปถึงการได้เห็นวิธีการแก้ปัญหา การจัดการปัญหาของผู้นำ ตลอดจนแต่ละภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทำให้เขาได้เห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ให้เขาได้เรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดของวัยที่เหมาะสมด้วย

ประการที่สาม - สร้างความเชื่อมั่นให้เด็ก
การเปิดโอกาสให้เด็กกล้าแสดงออกในสิ่งที่สร้างสรรค์ ได้แสดงความคิดเห็นก็เท่ากับเป็นการปลูกฝังเรื่องความเชื่อมั่นให้กับเด็ก การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กฝึกคิด และแก้ปัญหาได้ เมื่อเขาทำได้ และได้รับการยอมรับ เขาจะกล้าแสดงออก และมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

ประการที่สี่ - สร้างแบบอย่างที่ดี
สิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติตนในวันนี้ ก็คือกระจกสะท้อนอย่างดีให้กับเด็ก ทำให้เด็กเรียนรู้ทางตรงจากการปฏิบัติ การจัดการในแต่ละระดับ ได้เห็นความแตกต่างตั้งแต่ในระดับครอบครัวที่มีพ่อแม่ และผู้ใหญ่ในบ้านเป็นแบบอย่าง หรือตัวอย่างในระดับโรงเรียน ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศ และรวมไปถึงในต่างประเทศได้อีกต่างหาก

ในขณะที่ล่าสุดมีประกาศที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนจากกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องให้สถานศึกษาของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ รวมไปถึงโรงเรียนกวดวิชานอกระบบด้วยไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนดนตรี โรงเรียนสอนติวเพื่อสอบแข่งขัน รวมถึงการเรียนการสอนในช่วงปิดภาคฤดูร้อน และโรงเรียนนานาชาติบางแห่ง ที่ยังมีการจัดการเรียนการสอนอยู่ จะต้องปิดเรียนทั้งหมดด้วย หากสถานศึกษาใดฝ่าฝืนในส่วนโรงเรียนเอกชนจะถูกยึดใบอนุญาตการจัดตั้งสถานศึกษา ส่วนโรงเรียนสังกัดอื่นๆ ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบและถูกลงโทษ แม้มีการประกาศปิดสถานศึกษาแต่ขอให้ข้าราชการครูที่เกี่ยวข้องต้องหยุดทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด

การปิดสถานศึกษาเป็นมาตรการของภาครัฐที่ต้องการป้องกันการแพร่เชื้อเป็นเรื่องที่ดีและสร้างความคลายกังวลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง

แต่อยากเพิ่มเติมให้มองกว้างกว่าแค่การปิดสถานศึกษา ถ้าจะขยับไปถึงให้วิกฤติสถานการณ์สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ด้วย จะไม่ดีกว่าหรือ ?

ในระดับครอบครัวก็อย่าคิดเพียงแค่ว่าลูกได้หยุดอยู่บ้าน หรือเพียงแค่ให้ลูกเรียนออนไลน์ตามแนวทางของสถาบันการศึกษานั้นๆ แต่ควรจะหาโอกาสพูดคุยถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือการให้ลูกได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อกระตุ้นให้เขาฝึกทักษะการคิด

แต่ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ควรจะใช้โอกาสนี้ในการมองทะลุที่ไม่ใช่เพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สามารถนำไปสู่การเรียนรู้จากปัญหาจริง

หรือแม้แต่ในระดับโรงเรียน ก็สามารถจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Problem-based Learning : PBL คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน โดยคำนึงถึงแต่ละช่วงชั้นการศึกษา จะช่วยสร้างประสบการณ์ตรง ที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะการคิด เผชิญสถานการณ์ปัญหา วางแผนการเรียนรู้ และตรวจสอบกำกับการเรียนรู้ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์การเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ก็ได้ เพื่อเป้าหมายฝึกเด็กนำไปสู่“การใช้ปัญหา ทำให้เกิดปัญญา”

ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์วิกฤติร่วมของสังคม ย่อมเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ตอนนี้มีข้อเรียกร้องมากมายที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้คน

นอกเหนือจากเรื่องตอนนี้ประเทศของเราอยู่ที่ระยะ 2 ควรจะอยู่ระยะ 3 หรือควรจะปิดประเทศ หรืออื่นๆ อีกมากมาย เราน่าจะคิดอะไรที่สามารถใช้วิกฤติร่วมสร้างการเรียนรู้ หรือสร้างทักษะและปัญญาให้กับเด็กและเยาวชนด้วยก็จะดีไม่น้อย

อย่าทิ้งเด็กไว้ข้างหลังในวิกฤติ COVID-19 !


กำลังโหลดความคิดเห็น