กรมศิลป์เนรมิตรคลังพิพิธภัณฑ์สุดไฮเทคแห่งแรกของไทย เปิดให้บริการปี 2565
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้ปรับพิพิธภัณฑสถานด้านชาติพันธุ์วิทยา บนพื้นที่ ราชพัสดุ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มาใช้ประโยชน์เป็นคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในลักษณะจัดเก็บกึ่งจัดแสดง พบว่า มี โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เข้ามาให้เก็บรักษาเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยเหตุนี้ จึงจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หลังใหม่ ซึ่งดำเนินการจัดสร้างส่วนโครงสร้างอาคารเสร็จแล้ว โดยใช้งบประมาณ 462,500,000 บาท ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน และติดตั้งงานระบบของอาคาร ด้วยงบประมาณ 239,400,000 บาท
ทั้งนี้ การดำเนินงานก่อสร้างคลังกลางฯ จะเป็นศูนย์กลางการเก็บรวบรวม รักษา โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย สามารถจัดเก็บมรดกของแผ่นดิน ได้มากถึง 82,577 รายการ โดยจำแนกตามชนิดของวัสดุ ได้แก่ คลังหินและปูนปั้น เครื่องปั้นดินเผา คลังโลหะ คลังเครื่องไม้และเครื่องจักรสาน คลังหนังสัตว์ กระดูก คลังผ้าและกระดาษ คลังโบราณวัตถุของกลางระหว่างคดีความ และคลังวัตถุเพื่อการศึกษา ซึ่งจะมีการหมุนเวียนนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้คลังพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นหน่วยงานให้บริการฐานข้อมูลพร้อมภาพถ่ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งในรูปแบบฐานข้อมูลออนไลน์ แบบ QR Code แบบแคตาลอก และแบบเอกสารดั้งเดิม เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโบราณวัตถุในเชิงลึก เนื่องจากมีตัวอย่างโบราณวัตถุที่รวบรวมและจัดเก็บไว้จำนวนมากที่สุดในประเทศ
“เราได้วางระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล มีศูนย์รักษาความปลอดภัยระดับสูง ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อม ระบบกล้องวงจรปิดทุกห้อง ที่ใช้ซอฟแวร์ช่วยวิเคราะห์ เหตุการณ์ มีการบันทึกข้อมูลรูปแบบดิจิทัล และสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา มีระบบตรวจสอบสถานะการผ่านประตูเข้า-ออก ทุกบาน แบบเรียลไทม์ พร้อมทั้งมีสัญญาณเตือนภัย มีระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ ระบบดับเพลิงด้วยน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารสะอาด นอกจากนี้ ทุกห้องยังติดตั้งระบบปรับอากาศและควบคุมความชื้นให้เหมาะสมต่อการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ซึ่งจะเปิดบริการในปี 2565” นายประทีป กล่าว