กรมอนามัย เตือนสถานที่จัดงานวันเด็ก ตรวจสอบเครื่องเล่นให้ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ เลี่ยงตกแต่งด้วยลูกโป่งอัดก๊าซไฮโดรเจน เหตุติดไฟง่าย เสี่ยงระเบิด สพฉ.ร่วม ศธ.ยกระดับความปลอดภัยของเด็ก เตือนเที่ยวงานวันเด็กให้ระวังความปลอดภัยขณะขับขี่
วันนี้ (10 ม.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการดูแลความปลอดภัยในงานวันเด็กแห่งชาติ วันที่ 11 ม.ค. 2563 ว่า สถานที่แต่ละแห่งที่จัดงานวันเด็ก มักมีการจัดเครื่องเล่นไว้ให้สำหรับเด็กๆ เช่น สนามเด็กเล่น อุปกรณ์เครื่องเล่นต่างๆ ซึ่งผู้จัดงานควรมีการตรวจสอบสภาพเครื่องเล่นว่าอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน เครื่องเล่นต้องมีการยึดรากฐานให้มั่นคง ไม่ชำรุด พื้นผิวของเครื่องเล่นต่างๆ ต้องไม่มีรอยแตกหักหรือมีส่วนที่ยื่นออกมาก่อให้เกิดอันตราย เช่น แผ่นเหล็กโผล่ยื่น มีเสี้ยนไม้ สีที่ใช้ทาต้องไม่หลุดลอกหรือเก่าจนขึ้นสนิม และหากพบความผิดปกติหรือชำรุด ควรรีบซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัยต่อเด็ก ส่วนผู้ปกครองควรดูแลและสอนบุตรหลานให้รู้จักระมัดระวังตัวเองและผู้อื่นในขณะเล่น รวมถึงเฝ้าระวังและไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ส่วนลูกโป่งสวรรค์ที่ใช้ตกแต่งสถานที่ หรือมีการแจกลูกโป่งเป็นของรางวัล ควรเลือกลูกโป่งที่บรรจุด้วยก๊าซฮีเลียม เพราะแม้จะมีราคาแพงแต่จะไม่ติดไฟและปลอดภัยกว่า หากจำเป็นต้องใช้ลูกโป่งที่บรรจุด้วยก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งไวไฟสูง ติดไฟง่าย เมื่อกระทบกับความร้อนหรือประกายไฟ จะทำให้เกิดการระเบิดได้ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการบรรจุและติดป้ายเตือนว่าห้ามนำเข้าใกล้ความร้อนหรือประกายไฟ และไม่ควรจัดวางไว้กลางแดด และจัดให้ห่างจากหลอดไฟ หรือประกายไฟต่างๆ และไม่ควรนำมารวมกันหลายๆ ลูก เพราะเมื่อเกิดการระเบิดหนึ่งลูก จะะเบิดต่อไปยังลูกอื่นๆ ทำให้อันตรายถึงชีวิต
“ช่วงสัปดาห์นี้พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ก่อนออกจากบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรติดตามสถานการณ์ หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรให้เด็กสวมหน้ากาก N95 และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปีนี้ สพฉ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกระดับความปลอดภัยของเด็ก (Child safety) ในโรงเรียน เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งอุบัติเหตุที่พบในเด็กส่วนใหญ่ ได้แก่ อุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งโดยสารอยู่ในยานพาหนะที่ไม่มีความปลอดภัย เช่น คาร์ซีท ไม่สวมหมวกนิรภัย หรือแม้แต่การถูกเฉี่ยวชนจากการเดินบนท้องถนน การหกล้มหรือพลัดตกจากที่สูง จมน้ำ ไฟฟ้าดูด อาหารติดคอ รวมไปถึงที่พบว่ามีข่าวการเสียชีวิตคือเด็กติดอยู่ในรถ โดยร่วมกับ ศธ.ประชาสัมพันธ์ไปยังครู ผู้ปกครอง และตัวเด็ก ให้มีการระวังป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น การสอนลอยตัวเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ ส่งเสริมให้มีรุ่นพี่จิตอาสาที่ผ่านการอบรมปฐมพยาบาลคอยดูแลความปลอดภัยให้กับน้องๆ นอกจากนี้ ในส่วนของหน่วยกู้ชีพ ในอนาคตจะมีการพัฒนาแนวทางในการช่วยเหลือและส่งต่อผู้ป่วยเด็ก เช่น หลักสูตร Pediatric EMS หรือการออกแบบรถพยาบาลเพื่อผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะเป็นต้น
“ส่วนงานวันเด็กแห่งชาติ ควรระมัดระวังดูแลบุตรหลานในเรื่องของการเล่นเครื่องเล่นต่างๆ ซึ่งอาจพลัดตกจนบาดเจ็บได้ ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานที่จัดกิจกรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็กรวมไปถึงการพาเด็กเดินทางไปร่วมกิจกรรมในที่ต่างๆขอให้ระวังความปลอดภัยขณะขับขี่” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว