พบห้างดังกลางกรุง พบตู้พนันกว่า 1,000 ตู้ เครือข่ายเยาวชนเผยผลสำรวจ 100 ห้าง 100 ชุมชน 10 จังหวัด พบตู้คีบเต็มห้างเกลื่อนเมือง ชี้เข้าถึงง่าย หลอกเด็กเล่นพนัน เสนอแนวทางต้องควบคุมอย่างจริงจัง
วันนี้ (8 ม.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในเวทีเสวนา “บ่อนตู้คีบหลอกเด็ก เต็มห้างเกลื่อนเมือง ลุงเห็นไหม” จัดโดย เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ร่วมกับ มูลนิธรณรงค์หยุดพนัน
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า จากการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้เข้มงวดลงพื้นที่จับกุมตู้คีบตุ๊กตาเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 62 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งสื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวสารเรื่องนี้ จนทำให้ตู้คีบตุ๊กตาที่พบเห็นกันทั่วไปจนชินตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ตลาดและจุดต่างๆในชุมชน กลายเป็นที่สนใจของสังคมเกิดคำถามตามมาว่าตู้คีบตุ๊กตาเป็นการพนันหรือไม่ กระทั่งได้ข้อสรุปว่าตู้คีบตุ๊กตาแท้จริงแล้วคือการพนัน ตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478 บัญชี ข. หมายเลข 28 และเคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าเป็นการพนันอีกด้วย แต่ปัจจุบันกลับพบว่ายังสามารถพบเห็นตู้คีบตุ๊กตาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่กรมการปกครองมีนโยบายไม่ให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตให้มีการเล่นการพนันดังกล่าวโดยเด็ดขาด ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย (ที่ มท 0307.2/ว 3810) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนันและมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้ลงพื้นที่สำรวจตู้คีบตุ๊กตาในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 10 จังหวัด จำนวน 92 ห้าง พบว่า 75 ห้างมีเครื่องเล่นตู้คีบตุ๊กตากว่า 1,300 ตู้ พบเยอะสุดที่ห้างเดอะมอลล์บางกะปิ แฟชั่นไอส์แลนด์ เดอะมอลล์ท่าพระ เมเจอร์ปิ่นเกล้า และเซนทรัลพระราม 3 ตามลำดับ ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเปิดเผยและโจ่งแจ้งในบริเวณโซนเครื่องเล่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์อาหาร หน้าห้องน้ำ และทางเข้าออกห้างสรรพสินค้า เป็นจุดที่เข้าถึงได้โดยง่าย ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่มีการควบคุมอายุของผู้เล่น พบมีเด็กและเยาวชนเข้าเล่นเป็นจำนวนมาก และไม่พบใบอนุญาตให้สามารถเล่นการพนันตู้คีบตุ๊กตาได้ นอกจากนี้ยังพบข้อความเพื่อบิดเบือนความจริง เช่น ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ , สินค้านี้ไม่ใช่เครื่องมือการพนัน มีไว้เพื่อการขายสินค้าเท่านั้น และข้อความบอกลักษณะของตู้คีบถูกและผิดกฎหมาย เพื่อหลอกให้ผู้เล่นสับสนและเข้าใจผิด นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯได้สอบถามความเห็นประชาชน อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า เกี่ยวกับ “ตู้คีบตุ๊กตา” จำนวน 1,004 คน กว่าร้อยละ 80 เคยมีประสบการณ์การเล่นตู้คีบตุ๊กตา และเกินกว่าครึ่งไม่ทราบว่าตู้คีบตุ๊กตาเป็นการพนัน
“ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาตู้คีบตุ๊กตาผิดกฎหมาย ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนไม่สร้างพฤติกรรมความคุ้นชินและทัศนคติที่ดีต่อการพนัน ประชาสัมพันธ์กฎหมายสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม และขอเรียกร้องไปยังห้างสรรพสินค้าผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการตั้งตู้คีบตุ๊กตา ให้ยุติการให้บริการตู้คีบตุ๊กตาดังกล่าวในห้างของตน เพราะหากเจ้าของสถานที่ทราบว่าตู้คีบตุ๊กตาเป็นการพนันประเภทหนึ่ง แล้วยังอนุญาตให้ใช้สถานที่ในการตั้งตู้คีบตุ๊กตา เจ้าของสถานที่อาจมีความผิดร่วมด้วย” นายณัฐพงศ์ กล่าว
นางสาวสุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองเคยมีประสบการณ์เล่นตู้คีบตุ๊กตาเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วๆไปแต่ก็ไม่ได้คิดว่าผิดอะไร แต่พอได้เข้ามาทำงานรณรงค์หยุดการพนันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็เริ่มตั้งคำถามเรื่องตู้คีบตุ๊กตาว่าเข้าข่ายเป็นการพนันหรือไม่ เพราะนิยามของการพนันคือการนำเงิน ไปวางเดิมพัน กับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอน โดยมีของรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน และเมื่อทราบข่าวว่าศาลฎีกาตัดสินคดีเกี่ยวกับตู้คีบตุ๊กตา ตนก็มั่นใจทันทีว่าตู้คีบตุ๊กตาเข้าข่ายเป็นตู้เล่นการพนัน ต้องยอมรับว่าตู้คีบตุ๊กตาคือ หนึ่งในเครื่องเล่นที่แทบจะเดินผ่านกันได้ยาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ไม่ใช่การห้ามหรือการแบน แต่เป็นการจัดการอย่างมีมาตรการควบคุม” นางสาวสุภาพิชญ์ กล่าว
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า พ.ร.บ.การพนันเปิดช่องให้มีการเล่นพนันบางชนิดได้ตามวาระโอกาสอันสมควร ที่สำคัญคือต้องได้รับการอนุญาตก่อน แต่ตู้คีบตุ๊กตาไม่เคยได้รับการอนุญาต และมีเล่ห์เหลี่ยมในการหลอกเด็กหลายซับหลายซ้อนมาก การพนันบางลักษณะไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่ก็ไม่ใช่จะปล่อยเสรี ต้องถูกควบคุม กรณีตู้คีบตุ๊กตานี้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะจัดให้เข้าเล่นได้ และต้องประกาศชัดเจนว่าเป็นตู้เล่นพนัน จัดให้อยู่ในที่ในทางที่เป็นสัดส่วน และต้องไม่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า20 ปีเข้าเล่น และที่สำคัญคือต้องควบคุมไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้เล่น ซึ่งบ้านเรายังขาดหน่วยงานที่จะมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง อยากฝากบอกผู้ใหญ่ว่า เรื่องการพนันไม่ควรเลี่ยงบาลีหรือหลอกเด็กว่าไม่ใช่การพนัน บอกกับเขาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้เขามีภูมิความรู้ว่า อะไรคือพนัน และมันมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะชนะพนัน และที่สำคัญคือทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบในการกำกับควบคุมการเล่นพนันอย่างจริงจังไม่ปล่อยปละละเลย”
ขณะที่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า หน่วยงานราชการต้องไม่ปล่อยปละละเลย ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยอย่างเข้มงวด และต้องเอาจริงเอาจังในการปราบปรามบังคับใช้กกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการพนันที่เป็นอันตรายต่อเด็กเยาวชน บ่มเพาะนิสัยคนชอบเสี่ยงโชค ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนและสังคม ต้องร่วมเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาอย่างจริงจัง เพื่อ สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ให้เยาวชนไทยต้องตกอยู่ในวังวนนี้