อาหาร 1 ใน 3 ของโลก กลายเป็น "ขยะ" สสส. ชี้พฤติกรรมซื้อ 1 แถม 1 กินบุฟเฟต์ตักอาหารเยอะๆ จนกินไม่หมด ทำให้เกิดปัญหาอาหารส่วนเกิน แนะกินแบบพอเหมาะ พอดี หากเหลือต้องแยกขยะ ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการฝังกลบ เผาทำลาย สร้างมลพิษสิ่งแวดล้อม เสนอรัฐออกมาตรการระดับชาติแบบต่างประเทศ
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้เปิดเผย 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทยปี 2563 ที่ต้องจับตา ซึ่งในประเด็นด้านของสิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่งที่น่ากังวล คือ เรื่องของขยะอาหารหรืออาหารส่วนเกิน ซึ่งในระดับโลกพบว่า แต่ละปีคนทั่วโลกกว่า 36 ล้านคนต้องเสียชีวิตเพราะควมหิวโหย ทุก 10 วินาทีจะมีเด็ก 1 คนตายเพราะกินอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งปัญหาไม่ใช้โลกผลิตอาหารไม่พอ แต่เพราะ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้กลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งบางส่วนเป็นอาหารส่วนเกิน ที่กินไม่ทัน ขายไม่ทัน คิดว่าหมดอายุ ทั้งที่ยังรับประทานต่อได้ ปัจจัยของการเกิดอาหารส่วนเกิน สาเหตุหนึ่งมาจากพวกโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งอันตรายมาก และบางทีมักเป็นสินค้าใกล้หมดอายุ เมื่อเวลาซื้อมาเกิดกินไม่หมด กินไม่ทันก็จะทิ้ง หรือการนิยมไปกินอาหารที่มักให้อาหารเยอะๆ แล้วกินไม่หมด การไปกินอาหารประเภทบุฟเฟต์ ตักได้เต็มที่แล้วกินเหลือ ไม่มีใครกินต่อ เพราะเอาไปบริจาคไม่ได้ เป็นต้น
"อาหารส่วนเกินเมื่อเกิดการทิ้ง ก็จะกลายเป็นขยะอินทรีย์ที่ต้องเอาไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งการฝังกลบเป็นอันตรายที่สุดต่อสภาพแวดล้อม เพราะกระบวนการย่อยสลายจัดการต่างๆ เป็นพิษมาก หรือการเอาไปเผาก็สร้างหมอกควัน ฝุ่นควัน ทำให้สภาพแวดล้อมมันเสีย ก็จะกลายเป็นปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปี 2560 พบว่า ขยะที่เกิดขึ้น 64% เป็นขยะอินทรีย์ ปริมาณรวม 17.6 ล้านตัน เทียบเท่าเครื่องบินโดยสารลำใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 6.3 หมื่นลำ หรือเอาไปอัดในสนามราชมังคลากีฬาสถานได้ 8 สนามครึ่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเริ่มจากที่ตัวเองก่อน คือ ต้องเท่าทัน มีความพอดีและพอเพียง พอเหมาะ แล้วใช้อย่างที่ควรจะใช้ กินอย่างที่เราควรจะกิน ไม่ต้องตักเผื่อเพื่อน เผื่อเหลือ เผื่อขาด ซื้อไปเผื่อเพื่อน เห็นแล้วสวยดีเลยซื้อมา บางทีเราไม่ได้ชอบ แต่ดูสวยก็เลยซื้อ เหล่านี้เป็นประเด็นที่เราสามารถทำได้ง่ายมาก แล้วเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดอาหารส่วนเกินและปัญหาสิ่งแวดล้อมลงได้" นาชาติวุฒิ กล่าว
นายชาติวุฒิ กล่าวว่า จริงๆ แล้วอย่างร้านบุฟเฟ่ต์อะไรต่างๆ ที่ตักกินอาหารได้ตามสะดวกก็ไปรับประทานกันได้ แต่ต้องยึดหลักเหล่านี้ คือ ต้องพอดี พอเหมาะ อย่าให้เกิดอาหารเหลือ หรือหากพอเพียงแล้วแต่อาหารยังเหลืออยู่ ก็สามารถบริหารจัดการได้ เช่น หากยังรับประทานต่อได้ ก็อาจนำไปให้คนที่มีความต้องการจริงๆ หรือใช้วิธีการแยกขยะ เมื่อเรากินอาหารที่เหลือ หรือมีขยะต่างๆ ถ้าเราแยกได้ ก็จะเอาไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ จากขยะอาหารที่เกิดขึ้น หรืออาจนำไปกลายเป็นอาหารสัตว์ได้ จะช่วยให้เราสามารถจัดการอาหารขยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเอาไปใช้ต่อ ก็จะไม่สูญเสียคุณค่าของอาหารแล้ว มองว่าเรื่องนี้ควรเป็นนโยบายระดับประเทศในการลดอาหารส่วนเกินและใช้ประโยชน์ให้สูงสุด เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีการออกกฎหมายให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดพื้นที่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องบริจาคอาหารส่วนเกิน เช่น อาหารกระป๋อง พร้อมกำหนดโทษปรับผู้ไม่ปฏิบัติตาม 3,750 ยูโร หรือราว 1.25 แสนบาท สหรัฐอเมริกา บางรัฐให้สิทธิพิเศษด้านภาษีในการบริจาคอาหาร ออสเตรเลียมีองค์กรการกุศลรวบรวมอาหาส่วนเกินขายในราคาถูก เป็นต้น สำหรับการแยกขยะนั้นหากเป็นสถานที่สาธาณะ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ยังสามารถแยกขยะลงได้ง่าย เพราะมีถังแยกชัดเจน แต่ในระดับครัวเรือนก็อาจจะยังลำบากอยู่บ้าง ซึ่งต้องมีการผลักดันเชิงนโยบายมาช่วยในเรื่องนี้ รวมถึงการแก้ปัญหาที่ว่าเมื่อแยกขยะไปแล้ว ก็มีการเอากลับไปเทรวมกันอีก ต้องแก้ในเรื่องเหล่านี้ด้วย