xs
xsm
sm
md
lg

3 สาเหตุก่อโรค "ลิ้นหัวใจรั่ว" เผยอาการบ่งชี้ต้องรีบพบแพทย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอทรวงอก เผย 3 สาเหตุก่อ "โรคลิ้นหัวใจรั่ว" เปิดปิดผิดปกติ ระบุอาการบ่งชี้คือ ท้องบวม ขาบวม เหนื่อยง่ายกว่าปกติ อยู่เฉยๆ มีอาการเหนื่อย ไม่สามารถนอนราบได้ ย่ำมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์

จากกรณี "กิ๊ฟ" วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ระบุว่า ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว จนทำให้แฟนลูกยางช็อก

ช็อกแฟนลูกยาง "วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์" ป่วยลิ้นหัวใจรั่ว

วันนี้ (17 ธ.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโรคลิ้นหัวใจรั่ว ว่า โรคลิ้นหัวใจรั่วเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจโดยตรง หากรั่วหรือทำงานผิดปกติจะทำให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยลิ้นหัวใจทำหน้าที่กั้นห้องหัวใจในแต่ละห้อง ซึ่งมี 4 ห้อง โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 1. ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง 2. ลิ้นหัวใจที่กั้นอยู่บริเวณหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงถือได้ว่าลิ้นหัวใจของร่างกายมีความสำคัญมาก เพราะหากเกิดความผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ เปิดออกได้ไม่เต็มที่ หรือลิ้นหัวใจรั่วปิดไม่สนิท หัวใจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม หากเกิดความผิดปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบ รั่ว และอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นหัวใจวาย 

นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า โรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจได้แก่ 1. ลิ้นหัวใจรูมาติค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อ ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเกิดพังผืดและหินปูนมาเกาะจนไม่สามารถเปิด – ปิดได้เหมือนคนปกติทั่วไป ทำให้ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วขึ้น ส่งผลให้หัวใจวายได้  2. ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามวัย มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพทำให้ลิ้นหัวใจผิดรูป เปิด-ปิดไม่สนิท เกิดอาการลิ้นหัวใจรั่วได้  3.เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากกล้ามเนื้อตาย อ่อนแรง เมื่อหัวใจตีบนานๆ จะทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว ส่วนใหญ่เกิดกับคนอายุ 50 – 60 ปี

"อาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ มีอาการบวมของท้อง หรือขาเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรืออยู่เฉยๆ ยังมีอาการเหนื่อย และไม่สามารถนอนราบได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้มาพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษาลิ้นหัวใจสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ  ซ่อมแซมลิ้นหัวใจเดิม ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของอายุรแพทย์หัวใจ นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องรู้จักดูแลตนเองภายหลังการรักษา ดังนี้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่ควรหักโหมจนเกินไป  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม เลิกสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ" นพ.เอนก กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น