กรมการแพทย์ร่วม สจล.เปิดตัวเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ใช้ระบบ Active Plasma ใช้แรงไฟฟ้าแยกอนุภาคประจุดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ถึง 0.1 ไมครอน นำร่องใช้ รพ.นพรัตนราชธานีแห่งแรกในประเทศไทย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่ผู้ป่วย ประสิทธิภาพสูง 97-99% รัศมี 8 เมตร กินไฟน้อยเทียบเท่าตู้เย็น ช่วยให้อากาศสะอาดขึ้น
วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเปิดตัวเครื่องกำจัดฝุ่น PM2.5 ว่า หมอกควัน PM 2.5 เป็นอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพ จากการประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ผ่านมา พบว่าในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล รวมถึงชุมชนเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประสบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน กรมการแพทย์ จึงได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาว ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามาใช้ควบคู่กับการรักษา ล่าสุดได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พัฒนานวัตกรรมเครื่อง PM CLEANER ด้วยระบบ Active Plasma กำจัดฝุ่น PM 2.5 โดยจะนำไปติดตั้งภายในอาคารของ รพ.นพรัตนราชธานี ทำให้ผู้ป่วยและประชาชนลดความเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า รพ.รับผิดชอบดูแลเรื่องอาชีวอนามัย วินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ จึงได้ต่อยอดการรักษาโรคที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยจัดตั้ง “คลินิกมลพิษ” ที่เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประเมินสถานการณ์มลภาวะ ประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการโรงพยาบาลต้นแบบ ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล การนำขยะมารีไซเคิลเพื่อลดมลพิษจากการเผาไหม้ขยะ ส่วนการใช้เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 จะนำเครื่องดังกล่าวติดตั้งที่บริเวณโรงพยาบาลเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีต่อผู้ป่วยและประชาชนที่สัญจรบริเวณโรงพยาบาล รวมทั้งตั้งเป้าจะขยายผลให้เป็นที่ศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจต่อไป
ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สจล.กล่าวว่า หลักการทำงานของเครื่องประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1.การใส่ประจุไฟฟ้าให้กับอนุภาค 2.การเก็บอนุภาคที่มีประจุโดยใช้แรงไฟฟ้าสถิตจากสนามไฟฟ้า 3.การแยกอนุภาคออกจากขั้วเก็บไปยังถังเก็บพัก ซึ่งหลักการทำงานดังกล่าวจะช่วยดักจับฝุ่นละอองที่มีอนุภาคน้อยกว่า 0.1 ไมครอนได้ เป็นการดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คุณภาพอากาศบริสุทธ์ขึ้นโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต
ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องแยกฝุ่นกำจัด PM 2.5 ที่มีทั่วไปมีราคาค่อนข้างสูง สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกับ รพ.นพรัตนราชธานีและ สจล.พัฒนาระบบกำจัด PM 2.5 ด้วยระบบ Active Plasma ซึ่งมีระบบการแยกฝุ่น PM 2.5 โดยใช้หลักการม่านประจุไฟฟ้าเพื่อดักจับแทน เนื่องจากสารประกอบใน PM 2.5 มีลักษณะเป็นประจุบวก ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละอองในอากาศตั้งแต่ 97-99% แล้ว ยังสามารถบำรุงรักษาระบบได้ง่ายและไม่ก่อให้เกิดขยะจากไส้กรองที่เสื่อมสภาพอีกด้วย
เมื่อถามว่าสามารถกำจัดฝุ่นได้มีประสิทธิภาพในระยะเท่าไร ร.อ.รพ.สมชาย กล่าวว่า เครื่องกำจัดฝุ่นได้ผลดีในรัศมี 8 เมตร ซึ่งยิ่งเป็นห้องปิดจะยิ่งได้ผลดี เพราะช่วยให้อากาศหมุนเวียน ทำให้ค่าฝุ่นลดลงเรื่อยๆ จากการทดสอบประสิทธิภาพในห้องขนาด 384 ลูกบาศก์เมตร ค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 600 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน 10 นาทีที่เดินเครื่องลดลงมาเพียง 30 กว่าไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น สำหรับการกรองนั้นสามารถกรองอากาศได้ประมาณ 4,500 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง ดังนั้น 1 วันน่าจะกรองอากาศได้ประมาณ 1 แสนลบ.ม. จากการวัดเฉลี่ยแล้วเมื่ออากาศเข้าและออกเครื่องจะช่วยให้อากาศสะอาดขึ้น 25% สำหรับการนำไปใช้ควรนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีมลพิษและควันเยอะ เช่น ศาลเจ้า ที่จอดรถ หรือภาคเหนือที่มีการเผาป่าควรมีพื้นที่ที่มีพื้นที่กรองอากาศเช่น โรงแรม อาคารต่างๆ สำหรับเครื่องจะมีการทำหลายขนาดเพื่อให้เหมาะกับขนาดของแต่ละพื้นที่ โดยเครื่องที่ใช้ในห้องสามารถเปิดทิ้งไว้ได้ทั้งวัน เพราะกินไฟเทียบเท่ากับตู้เย็นเท่านั้น