xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "โรคกระเพาะอักเสบ" ไม่รักษา ซื้อยากินเอง เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์ชี้ "มะเร็งกระเพาะอาหาร" พบไม่บ่อยในคนไทย ห่วงอาการคล้ายโรคกระเพาะอักเสบ ทำคนไม่ใส่ใจ ไม่พบหมอ ซื้อยากินเอง เสี่ยงทำโรคลุกลามจนเสียชีวิตได้ ชี้โรคกระเพาะอักเสบรักษาไม่ต่อเนื่อง ทำเกิดมะเร็งได้เช่นกัน

วันนี้ (26 พ.ย.) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หลังมีข่าวน้องชายของนักร้องนักแสดง ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว ว่า โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่ไม่ได้พบบ่อยในคนไทย ไม่ติดใน 5 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 9 ในเพศชาย คือประมาณ 4 คนจากประชากรแสนคน ส่วนในผู้หญิงแทบไม่ได้พบมากถึงขั้นติด 1 ใน 10 เลยด้วยซ้ำ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมีทั้งเรื่องของพันธุกรรม แต่ปัจจัยนี้พบได้น้อยในคนไทย เรื่องแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบกเทอร์ไพโลไร การรับประทานอาหารเค็มจัด ปิ้งย่าง หมักดอง ภาวะกรดในกระเพาะอาหารน้อยกว่าปกติ เช่น การกินยาลดกรดเป็นเวลานาน หรือเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารในส่วนที่หลั่งกรดออกมา เป็นต้น

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วง คือ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอักเสบ คือ การปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบและไม่ได้มาพบแพทย์ แต่กลับซื้อยารับประทานเอง หรือบางคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบแต่รักษาไม่ต่อเนื่อง หันไปซื้อยารับประทานเองเช่นกันก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่นกัน จึงขอย้ำว่าหากเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือมีอาการปวดคล้ายโรคกระเพาะไม่ควรซื้อยากินเอง แต่ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและตรวจติดตาม แต่หากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ก็จะมีการวินิจฉัยด้วยการส่องกล้อง ซึ่งจะทำให้ทราบสาเหตุแน่ชัดว่า เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เกิดการอักเสบ เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งกันแน่ เพราะหากไม่ใส่ใจหรือปล่อยไว้สุดท้ายหากเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและมีการลุกลามก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า การรักษาขึ้นอยู่กับระยะและลักษณะของเซลล์มะเร็ง ซึ่งบางพันธุ์ลุกลามช้า บางพันธุ์มีความดุลุกลามได้เร็ว แต่หากเป็นระยะเริ่มต้นก็สามารถใช้การผ่าตัดมะเร็งออกมาทั้งหมดได้ โดยไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากมีการลุกลามหรือเป็นมาก แม้ผ่าตัดออกได้ทั้งหมดก็ต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย หรือหากผ่าตัดได้ไม่ทั้งหมดก็ต้องใช้ยาเคมีบำบัดรักษาร่วมเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น