xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 15 วัน มูลนิธิเซนต์คาเบรียลฯ ไม่จ่ายเงิน “ครูเกษียณอัสสัมชัญ” ตามคำสั่งศาล ส่งทนายขอเลื่อนเวลา 1 เดือน กลุ่มครูจ่อฟ้องบังคับคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ยื่นศาลขอขยายเวลาจ่ายเงินชดเชย-บำนาญ ครูเกษียณอัสสัมชัญและเวลาอุทธรณ์อีก 1 เดือน ด้านแกนนำครูมีสิทธิ์ฯ ไม่ห่วง เหตุเป็นคดีเฉพาะทาง การอุทธรณ์ไม่น่ากระทบคำพิพากษา จับตา 22 พ.ย.นี้ หากไม่จ่ายจ่อยื่นบังคับคดีขออายัดบัญชี ชี้เป็นคดีบรรทัดฐานช่วยครู ร.ร.เอกชนถูกเอาเปรียบ ยันเกษียณคือเลิกจ้าง-ต้องจ่ายชดเชย จ่อฟ้องอีกหากไม่แก้ระเบียบใหม่ตัดเงินบำนาญ

จากกรณีศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่เกษียณ จำนวน 10 คน รวมเป็นเงิน 5.5 ล้านบาท และเงินบำนาญพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ครู ร.ร.อัสสัมชัญที่เกษียณ 4 คน รวม 1.3 ล้านบาท ภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (23 ต.ค.) นายนที สิทธิประศาสน์ แกนนำกลุ่มครูมีสิทธิ์ ศิษย์มีครู กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ทราบว่าทางฝ่ายมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ได้ให้ทนายขออนุญาตศาลขอขยายระยะเวลาในการจ่ายเงินชดเชยและเงินบำนาญ รวมถึงขอขยายระยะเวลาในการขอยื่นอุทธรณ์คดีออกไป ซึ่งศาลก็อนุญาตเพิ่มให้อีก 30 วัน ดังนั้น วันสุดท้ายจริงๆ ที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ วันที่ 22 พ.ย. 2562 อย่างไรก็ตาม หากมูลนิธิฯ ขอยื่นอุทธรณ์จริงทางครูเกษียณก็ไม่ต้องกังวล เพราะศาลแรงงานถือเป็น 1 ใน 5 ศาลคดีเฉพาะทาง ที่เมื่ออุทธรณ์แล้วจะไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งอุทธรณ์ได้เฉพาะประเด็นว่า ศาลแรงงานพิพากษาขัดกับกฎหมายหรือระเบียบอะไรหรือไม่เท่านั้น ส่วนเรื่องข้อเท็จจริงและการสืบพยาน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะไม่พิจารณาแล้ว เพราะถือว่าศาลชั้นต้นพิจารณามาดีแล้ว และการอุทธรณ์ก็ไม่น่ามีผลต่อคำพิพากษาว่า ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินบำนาญ เพราะศาลแรงงานพิจารณาตามข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของโรงเรียนมาแล้ว อย่างไรก็ต้องจ่าย

“ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จะมีการปิดคดีเป็นล็อตๆ อย่างเร็วที่สุดคือ 3 เดือน หากไม่จบก็ 6 เดือน และช้าที่สุด คือ 9 เดือน คดีจะถึงที่สุด ส่วนที่กังวลว่าจะมีการยื่นไปศาลฎีกาต่อหรือไม่นั้น ต้องดูว่าศาลฎีกาจะอนุญาตหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นคดีเฉพาะทาง และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีผู้พิพากษาที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว และที่วางระบบเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้คดีไปกองที่ศาลฎีกาเหมือนเช่นในอดีต จนต้องใช้เวลาในการตัดสินคดีนานหลายปี นอกจากนี้ ระหว่างอุทธรณ์หากมูลนิธิฯ ยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยและเงินบำนาญตามคำสั่งศาล ครูเกษียณทั้ง 14 ราย สามารถยื่นต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี และไปยื่นกรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งอาจจะขอให้อายัดทรัพย์หรือบัญชีที่มี เพื่อนำมาจ่ายให้ครูเกษียณได้ ก็เป็นแนวทางที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม หวังว่าจะไม่มีการอุทธรณ์จะดีที่สุด และต่ายเงินตามคำสั่งศาลเรื่องจะได้สิ้นสุด” นายนทีกล่าว

เมื่อถามว่า คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการช่วยครูรายอื่นที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันหรือไม่ นายนทีกล่าวว่า จริงๆ ยังมีครูอีกหลายท่านที่ได้รับผลกระทบ แต่กรณีครู 14 รายนี้เป็นรายที่คดีใกล้หมดอายุความ จึงดำเนินการฟ้องก่อน ซึ่งคำตัดสินคดีนี้จะเกิดอานิสงส์ต่อครูที่รับผลกระทบรายอื่นๆ แน่นอน ดังนั้น หากครูที่เกษียณไปแล้วแต่ไม่ได้รับค่าชดเชยหรือเงินบำนาญ ไม่ว่าจะในอดีตที่คดียังไม่หมดอายุความ หรือเกิดกับครูรายใหม่ในอนาคต ก็สามารถไปฟ้องได้ เพราะมีคดีตัวอย่างแล้ว

“อย่างเรื่องของค่าชดเชยนั้น เนื่องจากครู ร.ร.เอกชนไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แต่กำหนดเรื่องของสวัสดิการและการคุ้มครองการทำงานว่า จะต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ที่ผ่านมามักจะต้องมานั่งตีความว่า การเกษียณต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เคยทำหนังสือเวียนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า การเกษียณ ร.ร.เอกชนต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด แต่นายจ้างพยายามบิดว่าการเกษียณไม่ใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นการหมดอายุไปเอง แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 กำหนดชัดเจนว่า การเกษียณเท่ากับการเลิกจ้าง ดังนั้น กฎหมาย ร.ร.เอกชนที่โยงไปยังกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงชัดเจนว่า ร.ร.เอกชนต้องจ่ายค่าชดเชย" นายนทีกล่าว

นายนทีกล่าวว่า ขณะที่เรื่องเงินบำนาญ ตรงนี้เป็นระเบียบของโรงเรียน เป็นสัญญาจ้าง โรงเรียนก็ต้องเคารพและทำตามระเบียบ การจะยกเลิกและทำให้ครูเสียประโยชน์หรือด้อยประโยชน์ถือว่าไม่ชอบ ศาลจึงพิพากษาให้ต้องจ่ายเงินบำนาญ ก็จะเกิดประโยชน์กับครูรายอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ต้องจับตาคือการออกระเบียบใหม่ของโรงเรียน ที่เหลือเพียงเงินบำเหน็จอย่างเดียว แต่ตัดตัวเลือกการรับเงินบำนาญออกไป ซึ่งจะเริ่มจากครูที่เกษียณภายในปีการศึกษา 2563 หรือวันเกษียณคือ วันที่ 30 เม.ย. 2564 ตรงนี้ถือว่าไม่ยุติธรรม เพราะการออกระเบียบใหม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา เพราะเป็นเหมือนการแก้สัญญาจ้าง โดยไม่ได้รับการยินยอม เพราะเท่าที่ทราบ คือ มีการเรียกประชุมแล้วแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น ตรงนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่หากโรงเรียนไม่แก้ไข อาจจะต้องมีการฟ้องร้องเช่นกัน

“สิ่งที่ครูกังวล คือ เงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนนิดเดียว แต่เงินบำนาญจะได้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูต้องการ มิเช่นนั้นก็ไม่รู้จะดูแลตนเองอย่างไร แม้ ร.ร.อัสสัมชัญ จะเป็น ร.ร.เอกชน แต่เงินเดือนครูก็แทบไม่ต่างจากราชการ และการแก้ระเบียบใหม่เช่นนี้ ครูก็ยังไม่ได้ยินยอม” นายนทีกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น