xs
xsm
sm
md
lg

เปิดจราจร "สะพาน" ข้ามทางหลวงหมายเลข 9 เชื่อมถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า สมบูรณ์ 7 ช่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสร็จสมบูรณ์!! ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ทั้ง 7 ช่วง ผู้ว่าฯ กทม.เปิดการจราจรช่วงที่ 5 สะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก เชื่อมโยงเครือข่ายถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกสู่ตะวันตก แบ่งเบาการจราจรบางกะปิ สะพานสูง ลาดกระบัง

วันนี้ (17 ต.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังเปิดจราจรโครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ช่วงที่ 5 ช่วงสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 หรือถนนกาญจนาภิเษก ว่า ถนนศรีนครินทร์–ร่มเกล้า ช่วงที่ 5 สะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9  มีขนาด 3 ช่องจราจรต่อทิศทาง รวม 6 ช่องจราจร ความยาวสะพาน 950 เมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ มีความพร้อมที่จะเปิดการจราจร ซึ่งการก่อสร้างเป็นการติดตั้งโครงสร้างสะพาน โดยประกอบสำเร็จรูปจากโรงงาน จากนั้นนำมาติดตั้งบริเวณสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 และเชื่อมต่อสะพานทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ สะพานยกระดับแห่งนี้ จะทำให้ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายถนนที่ถูกปิดกั้นด้วยทางหลวงหมายเลข 9 และเสริมประสิทธิภาพโครงข่ายถนนใกล้เคียง เช่น ถนนศรีนครินทร์ ถนนรามคำแหง ทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ถนนร่มเกล้า และถนนเจ้าคุณทหาร

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า แบ่งออกเป็น 7 ช่วง 7 สัญญา ระยะทางรวมประมาณ 12 กม. ที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดการจราจรแล้ว 6 ช่วง เหลือเพียงช่วงที่ 5 สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรในบริเวณพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก โครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์–ร่มเกล้า ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ ที่คณะผู้บริหารของกทม.ได้ผลักดันและติดตามการดำเนินการของโครงการมาโดยตลอดจนบรรลุผลสำเร็จ วันนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่โครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์–ร่มเกล้าแล้วเสร็จ สามารถเปิดการจราจรได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรในพื้นที่เขตบางกะปิ สะพานสูง ลาดกระบัง และบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการสัญจรให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในแนวถนนรามคำแหง และสายสีเหลืองในแนวถนนศรีนครินทร์ นอกจากประโยชน์ด้านการจราจรแล้ว ยังช่วยขยายการให้บริการระบบสาธารณูปโภค พัฒนาความเจริญให้กับพื้นที่ เกิดประโยชน์อย่างยิ่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ต่อทั้งประชาชนในพื้นที่ และกรุงเทพมหานคร












กำลังโหลดความคิดเห็น