xs
xsm
sm
md
lg

สารทีเอชซีใน "กัญชา" ขยายหลอดลมชั่วคราว ไม่ช่วยรักษาหอบหืด แต่ทำอาการกำเริบเฉียบพลัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอรามาฯ ยัน "สารสกัดกัญชา" ไม่ช่วยรักษาโรคหืด เผยผลวิจัยต่างประเทศพบ "สารทีเอชซี" ช่วยขยายหลอดลมในคนสุขภาพดีชั่วคราว แต่กลับทำให้ผู้ป่วยหอบหืดอาการแย่ลงเฉียบพลัน ส่วนผู้ป่วยหอบหืดที่ใช้กัญชา มีอัตราการใช้ยาพ่นรักษามากกว่าคนไม่ใช้กัญชา

วันนี้ (17 ต.ค.) ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ อาจารย์สาขาวิชาเวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อเท็จจริงเรื่องกัญชารักษาโรคหืด ภายในงานประชุมวิชาการประจำปีการดูแลโรคหืด ว่าด้วยมิติใหม่การรักษาและรับมือฝุ่นพิษปลายปี จัดโดยสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ว่า โรคหอบหืดไม่ได้อยู่ในข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ และสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทั้ง 3 สูตร คือ ทีเอชซีเด่น ซีบีดีเด่น และสูตรหนึ่งต่อหนึ่ง ก็ไม่ได้มีตัวไหนที่มีข้อบ่งใช้เรื่องของโรคหอบหืดเลย อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปอาจมีความเข้าใจว่า กัญชาอาจช่วยรักษาโรคหอบหืดได้ เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลอง และมีการศึกษาเล็กๆ ในมนุษย์ เมื่อปี1970 พบว่า สารทีเอชซีสามารถช่วยขยายหลอดลมได้ชั่วคราว แต่เป็นการศึกษาในคนที่มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาศึกษาในคนไข้หอบหืดกลับพบว่า คนไข้ครึ่งหนึ่งมีอาการหอบหืดแย่ลงแบบเฉียบพลัน

ผศ.นพ.สหภูมิกล่าวว่า นอกจากงานวิจัยเรื่องการใช้สารสกัดกัญชาในตัวทีเอชซีแล้วพบว่าทำให้คนไข้หอบหืดอาการแย่ลง ยังมีการศึกษาในต่างประเทศอีกชิ้นหนึ่ง แต่เป็นการสูดควันจากสารทีเอชซี ก็พบว่าไม่แตกต่างกัน ทำให้คนไข้มีอาการหอบหืดเฉียบพลัน จำเป็นต้องพ่นยาช่วยรักษาทันที ซึ่งสารทีเอชซีแม้จะทำให้หลอดลมขยายชั่วคราว แต่สารก็มีผลกับตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายด้วย โดยอาจกระตุ้นให้เกิดการระคายเคือง เกิดอาการไอ เสมหะเยอะขึ้น ทำให้หลอดลมกลับมาตีบ และอาการหอบหืดแย่ลงได้ รวมถึงยังมีการศึกษาล่าสุดที่ออกมาในปี 2019 แต่เป็นการเก็บข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลังว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีการใช้กัญชากับไม่ใช่กัญชา มีการใช้ยาพ่นแก้อาการต่างกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนไข้หอบหืดที่ใช้กัญชามีอัตราการใช้ยาพ่นเพื่อลดอาการหอบหืดมากกว่า และพบว่าเมื่อมีการใช้กัญชาไปนานๆ ทำให้หลอดลมตีบลง

"ร่างกายเราไม่ได้ผลิตสารสกัดกัญชาได้เอง แต่ร่างกายเรามีตัวรับที่จะไปจับสารสกัดกัญชามาใช้ ซึ่งการใช้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้ตัวรับสารทำงานผิดปกติ เช่น มีตัวรับสารน้อยลง รับสารได้น้อยลง จึงทำให้ต้องเพิ่มโดสมากขึ้นในภายหลัง และเมื่อหยุดใช้ก็จะทำให้เกิดผลตรงข้าม เช่น อย่างที่ว่าใช้แก้คลื่นไส้ ก็ทำให้เกิดการคลื่นไส้รุนแรงขึ้น หรือที่ว่าช่วยขยายหลอดเลือด สุดท้ายก็จะทำให้หลอดเลือดตีบ เช่นกันกับหลอดลม สุดท้ายก็จะทำให้หลอดลมตีบ กรมการแพทย์ถึงได้มีข้อบ่งชี้ว่าห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และการศึกษาที่ว่าขยายหลอดลมชั่วคราวก็เป็นในคนสุขภาพดี ซึ่งคนไข้หอบหืดกับคนธรรมดาหลอดลมต่างกัน เหมือนคนนี้กินยาแล้วดี ไม่ได้แปลว่าเรากินยาแล้วจะดี ทุกคนมีความแตกต่างกัน" ผศ.นพ.สหภูมิกล่าว

ผศ.นพ.สหภูมิกล่าวว่า สารสกัดกัญชาทีเอชซีจึงยังไม่สามารถใช้รักษาโรคหอบหืดได้ แต่ทำให้อาการแย่ลงด้วย สำหรับปัจจุบันสารสกัดกัญชามีข้อบ่งใช้ใน 4 กลุ่มโรคตามที่กรมการแพทย์แนะนำ  คือ คลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัด ปวดประสาท กล้ามเนื้อหดเกร็ง และลมชักดื้อยา ซึ่งไม่ใช่ยาตัวแรกที่ใช้รักษาแต่เป็นการรักษาในผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผลแล้ว อย่างไรก็ตาม การป่วยด้วยโรคต่างๆ แล้วจะใช้สมุนไพรมาช่วยรักษา ขอให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะมีผลกระทบกับยาที่ใช้รักษาอยู่หรือไม่ และแพทย์ต้องเข้าใจผู้ป่วยว่าเขาอยากหายจึงไปหายาหาวิธีการต่างๆ จึงขอให้ใจเย็นๆ และพูดคุยกันด้วยเหตุผล และควรมีการศึกษาร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาร่วมกัน

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ยารักษาหิบหืดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ การใช้สมุนไพรเพื่อรักษาก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่ยอมรับ เพราะที่ผ่านมาก็มีการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑืสมุนไพรมาทำเป็นยารักษาโรคหืด โดยร่วมมือกับ อภ.พัฒนาผลิตภัณฑ์จาก "ไพล" ซึ่งผลการศึกษาพบว่าได้ผลดีในการช่วยรักษาโรคหอบหืด


กำลังโหลดความคิดเห็น