xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” ซัดกลับพวกหนุนสารเคมี ผลตรวจมีมาตรฐานหรือไม่ ถึงย้อนแย้งกับ สธ. กระทรวงหมอจ่อเอาผิดคนอ้างชื่อหนุนใช้สารพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอธีระวัฒน์ ซัดกลับพวกด่าข้อมูล สธ.แบนสารเคมี พบการปนเปื้อนเชื่อถือไม่ได้ ถามกลับข้อมูลฝ่ายหนุนมีมาตรฐานหรือไม่ ถึงย้อนแย้งกับข้อมูลหน่วยงานสุขภาพประเทศ ส่วนข้อมูลเจ็บตายไม่มีมโน ลั่นมีผลกระทบสุขภาพจริง ด้าน สธ.ลั่นจากนี้จะให้ข้อมูลพิษสารเคมีทุกวันจนกว่าจะประชุม กก.วัตถุอันตราย พร้อมฟ้องเอาผิดกลุ่มเอาชื่อกระทรวงไปอ้างสนับสนุนใช้สารเคมี

วันนี้ (16 ต.ค.) นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ว่าขณะนี้เหลือเวลาอีก 6 วันจะถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ สธ.จะเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบของสารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่มีต่อสุขภาพผ่านสื่อทุกวันว่ามีพิษอย่างไรบ้าง ส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีวาระเสนอในคณะกรรมการฯ ให้เปลี่ยนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เป็นประเภทที่ 4 นั้น ผู้แทนในส่วนของ สธ.ทั้ง 3 คน คือ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเสนอความเห็นในวาระนั้นว่าสารเคมีเหล่านี้มีผลตอสุขภาพอย่างไรในแต่ละด้าน ซึ่งก่อนการประชุม สธ.ได้ส่งข้อมูลทางด้านวิชาการให้กรรมการทุกท่านแล้วแและย้ำว่าให้เสนอการลงมติที่ประชุมแบบเปิดเผย และยืนยันว่า สธ.ไม่เอาสารเคมีนี้ เพราะประเทศอื่นกว่า 50 ประเทศก้มีการแบนแล้ว แม้ประเทศผู้ผลิตก็ไม่มีการใช้

เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายสนับสนุนออกมาบอกว่า ตรวจแล็บแล้วไม่มีการปนเปื้อน จึงไม่เชื่อข้อมูล สธ. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา รมว.สธ.กล่าวว่า ข้อมูลของ สธ.เป็นการตรวจโดยห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องมือการตรวจก็มีมาตรฐานระดับโลก สามารถตรวจสารเคมีได้ 500-600 ชนิด และพบการปนเปื้อนจริง สอดคล้องกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้ง ม.มหิดล จุฬาฯ สถาบันจุฬาภรณ์ ม.นเรศวร เช่นเดียวกับข้อมูลของเครือข่ายไทยแพนที่ตรวจพบการปนเปื้อนจริง ซึ่ง สธ.ยอมรับข้อมูลของไทยแพน เพราะมีการส่งตรวจกับแล็บประเทศอังกฤษที่มีมาตรฐานเช่นกัน และมีการประสานกับทาง สธ.ในการลงไปสุ่มตรวจเก็บข้อมูล ส่วนข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ทั้งชมรมคนรักต่างๆ หรือกรมบางกรมที่ไปเสนอข้อมูลว่าตรวจไม่พบนั้น สธ.ก็ต้องถามกลับว่าข้อมูลที่นำมาตรงนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน มีมาตรฐานหรือไม่ มีความสามารถในการตรวจแค่ไหน ถึงย้อนแย้งกับ สธ.ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่ดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ และกรมวิทย์ต้องลงไปตรวจสอบด้วยว่าเป็นแล็บที่กรมวิทย์ให้การรับรองหรือไม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผลกระทบทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยและเสียชีวิต สธ.ไม่ได้มโน เพราะสาเหตุการป่วยตายเรามีรหัสในการวินิจฉัยโรคชัดเจน ซึ่งจะมีการระบุการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตที่เกี่ยวับสารเคมี เป็นข้อมูลที่รัดกุม โดยข้อมูลเมื่อ ต.ค. 2561 - ก.ค. 2562 มีผู้เสียชีวิตจากสารเคมีถึง 406 ราย ซึ่งไม่ใช่แค่ 3 สารพิษ แต่รวมสารเคมีตัวอื่นๆ ด้วย ส่วนการเสียชีวิตย้อนหลังพบว่าเฉลี่ยปีละประมาณ 600 ราย เข้าโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 5 พันคน และจริงๆ แล้วอาจมีคนป่วยมากถึง 1.5 หมื่นคนที่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล ทั้งนี้ การเสียชีวิตจากสารเคมีอย่าลืมว่าประเทศไทยมีการใช้ยาฆ่าแมลงอีกกว่า 280-300 ชนิด และไม่ได้ใช้แค่ตัวเดียวโดดๆ แต่มีการใช้หลายตัว ยิ่งมีสารอื่นปะปนก็ยิ่งทำให้อันตรายยิ่งขึ้น การรับสารตัวเดียวอาจอันตรายแค่หนึ่ง แต่รับหลายๆ ตัวอาจอันตรายไปบวก 6 หรือ 8

“สารเคมีเหล่านี้เข้าไปปะปนในห่วงโซ่อาหาร สิ่งที่คนไทยทุกคนกินไม่ว่าผู้ใหญ่ เด็ก คนแก่ ก็ได้รับสารเหล่านี้ แม้จะปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดโรค ทั้งมะเร็ง โรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ยังมีลักษณะเฉียบพลันอีก ซึ่งขึ้นกับปริมาณที่สัมผัสทั้งทางผิวหนัง หายใจ การกิน โดยพาราควอตถือว่าเป็นอันตรายอันดับหนึ่ง ส่วนไกลโฟเซตที่มีคนอ้างว่าไม่มีอันตรายเฉียบพลันก็ไม่จริง สธ.รวบรวมข้อมูลแล้วพบว่า การเผลอทานเข้าไป 200 มิลลิลิตร ก็มีอาการทางสมองเฉียบพลัน และกลายเป็นอัลไซเมอร์เฉียบพลัน ส่วนคลอร์ไพริฟอส มีผลออกมาในรูปเฉียบพลันคือการหายใจติดขัด ระบบอื่นๆ ผิดปกติ ย้ำว่า ความเห็นของ สธ.ทั้งหมด คือ เราไม่ต้องการทำร้ายเกษตรกร แต่ต้องการป้องกันอันตรายเกษตรกรที่เป็นด่านหน้า ประเทศไทยจะโลกสวยได้ ทุกคนต้องปลอดภัย เราเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกองทุนทดแทน สำหรับเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน และมีกองทุนช่วยเกษตรกรในเรื่องการหาสารทดแทน เครื่องจักรกล สารสกัดชีวพันธุ์ สารเคมีที่ต้องใช้ที่ต้องปลอดภัยสูงสุด รัฐต้องเข้าไปอุ้มเกษตรกร ไม่มีการเอาม็อบมาชนม็อบ ทำเพื่อเกษตรกรและคนไทยทั้งหมด เราจึงจะชนะทั้งสองฝ่าย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ส่วนเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพทารกนั้น เป็นงานวิจัยของทางอาจารย์จาก ม.มหิดล ร่วมกับทางต่างประเทศ เรียกว่าเป็นงานระดับนานาชาติ แต่กลับถูกโจมตีว่าเป็นงานห่วย เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ชัดเจนว่าทารกได้รับผลกระทบจากสารเคมีผ่านทางแม่ คือ ผ่านทางรกไปสายสะดือ ขณะที่น้ำคร่ำก็มีสารเคมีเหล่านี้ เด็กต้องกลืนน้ำคร่ำเข้าไป เด็กที่ออกมามีพัฒนาการผิดปกติ ทั้งออทิสซึม สมาธิสั้น เข้าสังคมไม่ได้ ขณะที่แม่นอกพื้นที่เกษตรกรรมและไม่ใช่เกษตรกร ลูกก็พบสารคลอร์ไพริฟอส สภาพเพศผิดปกติ เชาวน์ปัญญาผิดปกติ การพัฒนาเสียหาย ซึ่งตรวจสอบโดยนักวิเคราะห์ 3 สถาบันของสหรัฐพบว่า สมองควบคุมความเฉลียวฉลาด และสภาพเพศผิดปกติไป แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเชื่อถือไม่ได้ ทั้งนี้ ส่วนการใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่มีผู้โต้แย้งมา มีคำพูดที่เจ็บปวดสำหรับเกษตรกรหรือคนไทย คือ ถ้าอยากตายก็สมควรตาย เป็นคำพูดที่ สธ. แพทย์ บุคลากรสาธารณสุขรับไม่ได้ อะไรก็ตามแค่จิบเดียวแล้วเสียชีวิต ต้องนึกถึงคนที่น้อยใจ ไม่ได้ตั้งใจตาย แต่ที่สุดก็ตาย หน้าที่เราต้องป้องกันทุกอย่างไม่ให้เสียสุขภาพ เสียชีวิต

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการแอบอ้างชื่อผู้บริหารและโลโก้ สธ.ไปในเชิงสนับสนุนการใช้สารเคมี ว่าขณะนี้ทางฝ่ายกองกฎหมายของ สธ.ได้มีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อป้องเอาผิดกับผู้ดำเนินการแล้ว เพราะเป็นการแอบอ้าง และเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ซึ่งขณะนี้ สธ.มีนโยบายไม่เอาสารเคมีอันตรายชัดเจน





กำลังโหลดความคิดเห็น