xs
xsm
sm
md
lg

มธ.เผย 60 มหาวิทยาลัยระดับโลกร่วมประชุมนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 (Partnership in International Management-PIM) ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2562

รองศาสตราจารย์ ดร. พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้บริหารระดับสูงและนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกตอบรับเข้าร่วมประชุมกว่า 120 คนจาก 60 มหาวิทยาลัย อาทิ Tsinghua University, School of Economics and Management, China , Rotterdam School of Management, Erasmus University, Netherlands , AGSM, The University of New South Wales, Australia และ Bocconi University, Italy เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์จากผู้บริหารสถาบันการศึกษาชั้นนำเหล่านี้มาช่วยผลักดันการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์สำหรับประเทศไทยและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล

“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีขนาดใหญ่มากและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ถ้ามองย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ธุรกิจหลายอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แต่ปัจจุบันธุรกิจภาคการค้า การเงิน การบันเทิง การบริการ รวมทั้งธุรกิจการแบ่งปัน และธุรกิจต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว และถือได้ว่าเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ที่ดึงดูดการลงทุนมหาศาลจากการที่ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก เราอยากจะเห็นการเกิดขึ้นของธุรกิจอย่างนี้ในประเทศไทย"

รองศาสตราจารย์ ดร. พิภพ กล่าวด้วยว่า นับว่าเรายังค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างธุรกิจในกลุ่มนี้ให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถระดมทุนได้ในระดับพันล้านเหรียญ หรือระดับ “ยูนิคอร์น” ด้วยเหตุที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ PIM หรือเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกรวม 65 แห่ง

“เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์นับว่าเป็นความหวังของประเทศและของรัฐบาลในการสร้าง S-Curveใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งถือเป็นหนทางความอยู่รอดของประเทศ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่สามารถยกระดับรายได้ของประชาชน ความสำเร็จจะเกิดได้ต้องเดินไปพร้อมกันทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ ที่แวดล้อม ในฐานะสถาบันการศึกษาถือว่าเรามีบทบาทสำคัญในการผลักดันทั้งด้านการผลิตบุคลากร และการสร้างเครือข่ายจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อระดมกำลังในการสนับสนุน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะยากจะประสบความสำเร็จ”

คณบดีคณะพาณิชย์ฯ กล่าวว่าเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศ (PIM) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1973 เป็นที่รวมของสมาชิกสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจชั้นนำของโลก แต่ละประเทศจะมีเพียงสถาบันการศึกษาเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก และในอาเซียนเองก็มีแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ SMU ของสิงคโปร์เท่านั้นที่เป็นสมาชิก ที่ผ่านมาเครือข่ายของ PIM ได้สร้างความร่วมมือระหว่างกันไปทั่วโลกทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การร่วมวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องการบริหาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงธุรกิจจากแต่ละภูมิภาค โดยกิจกรรมที่ทำทุกปีคือการประชุมประจำปีเพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน กิจกรรมในระหว่างปีก็จะมีการสำรวจข้อมูลระหว่างกันเพื่อขยายช่องทางความร่วมมือด้านบริหารธุรกิจระหว่างกันด้วย

ด้าน ผศ. ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองคณบดีฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ ถือได้ว่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.ได้รับความเชื่อมั่นอย่างสูงจากมวลสมาชิก หลังจากที่คณะฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจาก 3 สถาบันระดับโลกหรือการรับรองระดับสามมงกุฎ (Triple Crown Accreditation) ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ภายในงานประชุมครั้งนี้ จะมีบูธวิสาหกิจชุมชน 3 แห่ง มาโชว์ด้วย เช่น วิสาหกิจชุมชนเกาะกก จ.ระยอง โดยนักศึกษาของ มธ.เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพ เพ็กเกจ และอื่นๆ ซึ่งพัฒนาจากลูกประคบมาเป็นหมอนรองคอสุขภาพ ขณะนี้กำลังได้รับความนิยม ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชน จะได้รับความแนะนำจากผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จะได้นำไปพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค อุปโภคต่อไป และมีโอกาสขยายตลาดไปยังต่างประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ มธ.ถือโอกาสใช้เป็นเวทีระดมความคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยภายหลังการประชุม จะถอดบทเรียนจากสมาชิกกว่า 60 ประเทศซึ่งสมาชิกหลายท่านนอกจากเป็นนักการศึกษาแล้วยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จะมาเล่าประสบการณ์ ข้อเสนอ มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการนำมาสร้างกลไกผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยเกิดได้อย่างเข้มแข็งต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น