xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมถึงไม่ควรดุด่าหรือตีเด็ก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมต้องเคยเผชิญกับช่วงเวลาที่ลูกๆวัยซนพยายามที่จะเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ แนะนำ สั่งสอนอะไรไปก็ไม่เคยได้ใกล้เคียงกับที่คาดหวัง ดูเหมือนจะทำตัวไม่น่ารักเอาเสียเลย จนต้องนึกถึงสุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ขึ้นมาแทบทุกครั้งไป

แน่นอนว่าการดุด่าว่ากล่าว หรือการลงไม้ลงมือตีเด็กๆเพื่อให้รู้ว่าตัวเองได้ทำอะไรไม่ดีหรือผิดพลาดไป มักจะเป็นวิธีที่ได้ผลในการระงับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กได้อย่างรวดเร็ว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งได้ใจไป เพราะโดยแท้จริงแล้วการที่เด็กหยุดหรือคิดว่าจะไม่ทำอีกนั้นเป็นเพราะ “ความรู้สึกกลัว” มากกว่าที่จะรับรู้ได้ว่าวิธีดังกล่าวเป็นการสั่งสอนให้คิดได้เองว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

เด็กมักรู้สึกกลัวเจ็บ กลัวถูกกระทำ กลัวว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่รัก หรือกลัวที่จะต้องอับอายทุกครั้งที่ถูกดุด่าหรือตีด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวจากความไม่พอใจของคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นไปได้ที่จะพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ตามที่ถูกคาดหวัง หรือในตรงกันข้าม อาจเลือกที่จะท้าทายอำนาจด้วยการทำสิ่งไม่ดีเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าตัวเองมีสถานะที่เหนือกว่าและทุกคนในครอบครัวต้องยอมตาม เพื่อยุติการถูกทำร้ายด้วยถ้อยคำและความรุนแรง ซึ่งยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทางมากขึ้น

โดยปกติแล้วเด็กจะไม่สามารถแยกแยะถูก/ผิดได้เอง หรือเข้าใจว่าการทำความผิดต่างๆนั้นไม่ดีอย่างไร หากไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม การใช้วิธีใส่อารมณ์รุนแรงกับเด็กผ่านทางคำพูดและการกระทำจึงมักก่อให้เกิดผลเสียมากกว่ามากกว่าผลดีในการมุ่งหวังให้เด็กเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ต้องการ ต่อไปนี้คือผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรดุด่าหรือตีเด็ก

1.การดุด่าและการตีส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กโดยตรง เนื่องจากการที่เด็กกลัวความเจ็บปวด อับอาย หรือขาดความรักความเข้าใจ ย่อมทำให้เกิดความเครียด กดดัน วิตกกังวล รู้สึกเสียใจและซึมเศร้า ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์และการพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมสำหรับเด็กตามมา

2.การตีด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวอาจทำให้เด็กเกิดการบาดเจ็บ มีบาดแผลฟกช้ำหรือเลือดออกโดยไม่จำเป็น ประกอบกับสภาพจิตใจที่บอบช้ำ ความเครียดและวิตกกังวลจากการถูกลงโทษล้วนส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเป็นที่มาของโรคภัยต่างๆ หรือมีผลต่อพัฒนาการของสมองและร่างกาย

3.เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆจากบุคคลรอบตัวเพื่อหล่อหลอมความคิดและบุคลิกภาพของตัวเอง การที่คนในครอบครัวมักดุด่า พูดหยาบคาย เสียดสี ประชดชดประชัน หรือชอบนินทาผู้อื่น มีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงเป็นประจำ มีแนวโน้มที่เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบเพราะเห็นเป็นเรื่องปกติ

4.การดุด่าและการตีของผู้ปกครองเป็นการแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย ใช้อารมณ์ความไม่พอใจเป็นตัวนำเพื่อยุติพฤติกรรมที่ไม่ชอบโดยทันที เด็กจึงซึมซับการแสดงออกที่ขาดความยั้งคิดมาใช้กับเรื่องอื่นเพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่ได้ผล ทำให้ไม่สามารถอดทนรอหรือควบคุมตัวเองได้เมื่อหลายสิ่งไม่เป็นดังที่หวัง รวมทั้งมักถูกดึงดูดเข้ากับกลุ่มเพื่อนที่มีพื้นฐานร่วมกันและชักนำกันแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

เมื่อการลงโทษด้วยความรุนแรงดูจะเป็นทางเลือกที่น่าจะก่อให้เกิดปัญหา แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการที่เหมาะสมในการยับยั้งพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กๆได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือ การใช้ความพยายามที่มากขึ้นในการทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงวิธีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โดยอาศัยแนวทางดังต่อไปนี้

1.ใช้เหตุผลนำอารมณ์เสมอ ถึงแม้ว่าเด็กจะยังมีข้อจำกัดในการใช้เหตุผล แต่เหตุผลถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการได้หยุดคิดและทบทวนวิธีการในการรับมือกับเหตุการณ์ โดยพยายามพูดคุยเพื่อถ่ายทอดให้เด็กเข้าใจถึงความคาดหวังโดยใช้คำอธิบายที่กระชับ ชัดเจนและตรงไปตรงมา

2.นอกจากการพยายามพูดคุยเพื่อให้รับรู้และเข้าใจตรงกันแล้ว“ภาษากาย” นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารให้เด็กรับรู้ถึงความรักและความห่วงใยที่แท้จริง คำแนะนำที่ประกอบด้วยสีหน้า แววตาและท่าทางที่ดูอ่อนโยนสามารถโน้มน้าวให้เด็กมีแรงผลักดันทำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มุ่งหวัง

3.เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป การให้พื้นที่และเวลากับเด็กในการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดและพฤติกรรมไปในทิศทางที่คาดหวังนับเป็นสิ่งจำเป็น โดยนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนและกติกาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย

4.หากจำเป็นต้องลงโทษ ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดและความรุนแรง รวมถึงการทำร้ายจิตใจโดยการแสดงพฤติกรรมหมางเมิน ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวจนรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีที่พึ่งพิง ที่เหมาะสมกว่าคือการแบ่งหน้าที่ระหว่างคุณพ่อคุณแม่ โดยให้คนหนึ่งอธิบายความคาดหวังให้ฟังแล้วคอยดูอยู่ห่างๆ อีกคนหนึ่งคอยให้กำลังใจและให้คำแนะนำถึงวิธีการออกจากสถานการณ์ อาทิ ขอโทษและรับปากที่จะปรับปรุงตัว

การเลี้ยงดูลูกในปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปรับมุมมองความคิดสักเล็กน้อย โดยใช้แนวทาง “รักลูกให้ตี (ตัวเอง)” ในที่นี้คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสะกิดใจตัวเองไม่ให้ใช้อารมณ์ความไม่พอใจนำการใช้สติและเหตุผล ใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อแนะนำและส่งต่อความรักให้กับลูกๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น