ติดตามเรื่อง “ โค้ดดิ้ง” กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ
กระทรวงศึกษาธิการโดยดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช. แถลงนโยบายการศึกษาเรื่องเด็กไทยทุกคนต้องเรียน "โค้ดดิ้ง" (Coding) โดยใช้คำว่า "Coding for all" เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทักษะภาษาใหม่ที่จะใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในอนาคต โดยจะบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนของเด็กไทย มีเป้าหมายทำให้เด็กเข้าใจการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และหุ่นยนต์ สอดคล้องกับการเตรียมกำลังคนของประเทศให้มีทักษะทันโลกยุคดิจิทัล มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การ Coding คือ การเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย “โค้ด (Code)” เพื่อให้โปรแกรมทำตามคำสั่ง อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการสั่งงานคอมพิวเตอร์ให้ทำตามที่เราต้องการ โดยการใช้ภาษาของคอมพิวเตอร์
ระยะเริ่มต้น จะมีการอบรมครูในการสอน Coding จำนวน 1,000 คน ในเดือนตุลาคม 2562 ก่อนจะมีการนำร่องสอน Coding ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 รวมทั้งกำหนดให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศเรียน Coding ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป
โดยระบุถึงเหตุผล 5 ข้อ คือ 1.ให้เกิดทักษะการอ่าน 2. ให้เกิดทักษะการเขียน 3 .พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ 4. ฝึกฝนทักษะคิดคำนวณและ 5. มีตรรกะแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้เป็นขั้นเป็นตอน
คุณหญิงกัลยากล่าวถึง Coding ว่าจะช่วยทำให้เยาวชนไทยมีทักษะในการดำรงชีวิตรอบด้านด้วยอักษรตามตัว CODING ดังนี้
C : Creative Thinking ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทยด้วยข้อจำกัดทางการศึกษาด้านเทคโนโลยี
O : Organized Thinking การส่งเสริมให้เยาวชนไทย มีความคิดที่เป็นระบบระเบียบ มีตรรกะวิเคราห์สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รู้จักคิดที่จะแก้ไขปัญหา ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกยุคดิจิทัล
D : Digital Literacy ความสามารถในการเข้าใจภาษาดิจิทัล ทำให้เยาวชนไทยสามารถดำรงชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้อย่างง่ายดาย
I : Innovation นวัตกรรมที่จะนำไปใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก
N : Newness การสนับสนุนให้คนไทยมีความคิดริเริ่ม ในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่รอช้า ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยไม่เป็นประเทศที่เป็นแค่ผู้ตามอีกต่อไป
G : Globalization ยุคโลกาภิวัตน์ เป็นสิ่งที่คนไทยต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ให้ทัดเทียมหรือก้าวไกลไปกว่านานาอารยประเทศ
การเรียนCoding จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ อลิซ สเตนกลาส ประธานเว็บไซต์ code.org องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสำหรับฝึกเรียนเขียนโปรแกรม กล่าวว่า Coding เป็นวิชาที่เติบโตและมีคนสนใจอยากเรียนมากในช่วงเวลานี้ มี 25 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็ตื่นตัว แค่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเด็ก 28 ล้านคนทั่วโลกลงทะเบียนกับ code.org ซึ่งมีบทเรียนในการหัดเขียนโปรแกรมจำนวนมาก ขณะที่มากกว่า 10 ล้านคนทั้งชายและหญิงเข้าร่วมกิจกรรม “Hour of Code Challenge” และคาดว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าตลาดแรงงานก็จะเปลี่ยนไป งานจะเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีมากขึ้น ฉะนั้น Coding จึงเป็นรากฐานระบบการศึกษา ที่ครู นักเรียนต้องรู้และใช้เป็น เพราะต้องเตรียมพร้อมให้เด็กมีทักษะเพื่อพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน
และแน่นอนมีหลายประเทศที่ได้บรรจุเรื่อง Coding เข้าไปในหลักสูตรให้เด็กเรียนเรียบร้อยแล้ว
ประเทศญี่ปุ่นกำหนดวิชา Coding เป็นวิชาพื้นฐานของการเรียนการสอนของเด็กประถม โดยบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน “วิชาบังคับ” ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ ตั้งแต่ Grade 5 ซึ่งเทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เริ่มเรียนตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 โดยเนื้อหาจะปูพื้นฐานความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม และสอนการเขียน Coding เบื้องต้น
ตัวอย่างเนื้อหาที่สอนให้เด็กป. 5 เช่น สอนให้นักเรียนวาดรูปทรงเหลี่ยมต่าง ๆ ด้วยระบบดิจิทัล และเขียนคำสั่งแบบง่าย ๆ เช่น เพื่อให้หลอดไฟ LED กะพริบ โดยมีจุดประสงค์ของวิชาดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่การรู้และเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี แต่ยังช่วยให้เด็กฝึกการใช้กระบวนการคิดที่เป็นระบบ และเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย
ขณะที่จีนเองก็มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลก และเริ่มมีการนำร่องวิชาเขียนโปรแกรม หรือภาษาคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพราะเขามีเป้าหมาย ผู้นำระดับโลกด้าน AI (Artificial Intelligence) หรือที่เราเรียกอย่างเป็นทางการว่าปัญญาประดิษฐ์ ภายในปี 2573
ไม่ใช่แค่จีนและญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรก็เริ่มการสอนแบบนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ส่วนสิงคโปร์สอนมาได้ 2 ปี โดยประเทศอังกฤษประกาศปรับหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนโดยเริ่มแนะนำให้เด็กรู้จักกระบวนการคิดในทางคอมพิวเตอร์ (Computational Thinking: CT) ตั้งแต่ระดับ Key Stage 1 (อายุ 5-6 ปี) ซึ่งหากเทียบด้วยอายุก็จะเท่ากับอนุบาล 3 ถึงประถม 1 ของบ้านเรา
ในขณะที่อินเดียสอน Coding ให้เด็กก่อนอนุบาลตามหลักพัฒนาการและการเรียนรู้ ตั้งแต่กิจกรรมของเด็กวัยเตาะแตะ และก็พัฒนาทักษะการเข้าสังคม การช่วยเหลือตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าโรงเรียน โดยเริ่มวางแผนให้เด็กวัยกำลังพูดเรียนรู้วิธีเขียน Coding เพราะทุกวันนี้เด็กหลายคนก็ถูกปล่อยให้อยู่กับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต หรือคอมพิวเตอร์กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแทนที่จะปล่อยให้ลูกเล่นอยู่แต่หน้าจอ จึงแนะนำว่าพ่อแม่ควรเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ให้เขาตั้งแต่เด็กๆ จะดีกว่า
เรียกได้ว่าหลายประเทศทั่วโลกก็ตระหนักแล้วว่า นอกจากภาษาในการสื่อสารแล้ว ภาษาคอมพิวเตอร์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในอนาคตโลกอันใกล้นี้ โลกจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และทุกอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน จะกลายเป็นอุปกรณ์ IOT และเศรษฐกิจเกือบทั้งโลก จะทำงานบนพื้นฐานของดิจิทัล เป็นหลัก
แต่ที่น่าสนใจและกลายเป็นประเด็นทางสังคมก็คือ ประโยคที่คุณหญิงกัลยากล่าวว่า “ไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ก็ได้ในการเรียน Coding”
“เมื่อเป็นวิชาที่เน้นทักษะการคิด อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จึงไม่ใช่เครื่องมือสำคัญสำหรับเด็กเล็ก แต่จะเน้นไปที่กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้เรียน เช่น เกม ชุดตัวต่อเลโก้ อุปกรณ์สำหรับวางแผน และการตั้งโจทย์ปัญหา โดยคุณครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน”
ทำให้เกิดคำถามว่า เรียนCoding ไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์ได้จริงหรือ
และ Coding สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยไหน และไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แล้วจะเรียนอย่างไร ?
ล่าสุดมีสื่อการเรียนรู้ที่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์แนะนำ Coding for Babies ซะงั้น
การสอน Coding แบบออฟไลน์นั้นมีอยู่จริง และยังสามารถใช้สอนได้จริง ทั้งยังเหมาะกับเด็กเล็กด้วย โดยเราสามารถฝึกทักษะการ Coding ด้วยการให้เด็กลองแก้โจทย์ปัญหาที่เหมาะกับวัย
ที่จริงประเทศฟินแลนด์ที่มีระบบการศึกษาติดอันดับ 1 จากการจัดอันดับล่าสุดของเว็บไซต์ World Economic Forum ได้บรรจุวิชาเขียนโปรแกรมไว้ในหลักสูตรระดับชาติตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว รายละเอียดหลักสูตรก็เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัย
เกรด 1-2 เรียนพื้นฐานเรื่องการเขียนโปรแกรม โดยไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่เน้นให้เด็กฝึกแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อฝึกฝนตรรกะ และความคิดเชิงวิเคราะห์
เกรด 3-6 เน้นการเขียนโปรแกรมให้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้เชิงขั้นตอนที่กว้างขวาง
เกรด 7-9 การเขียนโปรแกรม ถูกเน้นให้เป็นวิชาที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับวิชาอื่น
แม้จะเข้าสู่ยุคดิจิทัล และแนวโน้มทุกอย่างต้องพึ่งพาเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือพัฒนาการตามวัยของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กเล็ก หรือในช่วงปฐมวัย ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัย
และที่ประเทศฟินแลนด์ก็ตระหนักในเรื่องนี้
ฉะนั้น แม้จะเรียน Coding ก็ควรจะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กด้วย
สำหรับเด็กปฐมวัย การสร้างโปรแกรมบนกระดาษก็สามารถทำได้แล้ว โดยอาจจะเลียนแบบการเขียนโปรแกรมคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน โดยไม่มีคอมพิวเตอร์จริง ให้เด็กลองเขียนภาพบนกระดาษ ตามโปรแกรมที่ทำเหมือนเวลาโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน
จริงอยู่ แม้การเขียน Coding มีข้อดีหลายประการ เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ต่อยอดได้แบบสร้างสรรค์ แต่ละขั้นตอนในการเขียน Coding เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้กระบวนการวางแผน ฝึกฝนกระบวนการคิดและการลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้เด็กได้เรียนรู้โครงสร้างของคำตอบ และความคิดผ่านการแก้ไขปัญหา ในขั้นตอนดำเนินการต่าง ๆ พวกเขาจะได้เห็นเลยว่า การเขียน Coding ช่วยให้เรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ ง่ายขึ้น เข้าใจได้รวดเร็วขึ้น เพราะการเขียน Coding กับหลักคณิตศาสตร์ เป็นอะไรที่คล้ายกัน ช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น
แต่ข้อคำนึงสำหรับเด็กปฐมวัยก็ยังต้องอยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ คุณครู และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยต้องมีความรู้ และเข้าใจถึงพัฒนาการตามวัยของเด็กวัยนี้ว่าควรจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างไรจึงเหมาะสม
อ้างอิงถึง The National Association for the Education of Young Children และ Fred Rogers Center for Early Leaning and Children’s Media at Saint Vincent College (NAEYC & the Fred Rogers Center, 2012) ยืนยันว่า การใช้เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ดีวีดี และเกม กับเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึง 8 ปี จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในเรื่องความคิด สติปัญญา และอารมณ์ แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า จะต้องใช้อย่างถูกวิธีตามความเหมาะสม และความสามารถของครูปฐมวัยและผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของเด็กปฐมวัยในยุคปัจจุบัน
ดังนั้นการที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับเด็ก สิ่งที่ต้องคำนึงคือ วิธีการเลือกเครื่องมือ ในที่นี้พูดถึง Coding ก็ควรจะต้องคำนึงถึงวัยด้วย เครื่องมือที่นำมาใช้ในเรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีนั้นต้องช่วยให้เด็กสามารถค้นคว้า สร้างโอกาส และต้องส่งเสริมให้เด็กมีทางเลือกในการสร้างจินตนาการ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ขวบปีแรก ที่ไม่ควรให้เด็กข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีใด ๆ
มีบางประเทศเริ่มพูดถึงเรื่อง Coding กับวัยทารกอีกต่างหาก
เรากำลังจะเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มใบ และแน่นอนว่าจะต้องมีรูปแบบดิจิทัลใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย
นั่นยิ่งต้องทำให้เราหนักแน่น และมีแนวทางที่ชัดเจนในการวางรากฐานเรื่องการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยด้วย
แนวทางที่ไทยวางแผนจะนำมาใช้คือให้เด็กเล็กเริ่มต้นให้เรียน Coding โดยยังไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์จึงถือว่าถูกทางอย่างยิ่ง