xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยเล่นพนันเกินครึ่ง หวั่นดันพนันถูก กม.ไม่ช่วยลดปัญหาใต้ดิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงานสถานการณ์การพนันในประเทศไทย ปี 2562 ออกมาแล้วเรียบร้อย และมีการนำเสนอภายในงานประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2562 “สังคมเท่าทัน การพนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย โดยพบว่า คนไทยเล่นพนันกันเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (CGS) กล่าวว่า จากการที่ CGS ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2562 โดยเก็บข้อมูลประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้ง 77 จังหวัด รวม 44,050 ตัวอย่าง พบว่า ปี 2562 คนไทยเล่นการพนัน 57% หรือประมาณ 30.42 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 5.2% หรือ 1.49 ล้านคน จำนวนนี้เป็นนักพนันหน้าใหม่ 7.1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีประมาณ 6.2 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 14.43% แสดงว่าแนวโน้มเข้ามามากขึ้น

เมื่อดูตามภูมิภาค มีการเล่นพนันไม่แตกต่างกันมาก แต่พื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีจำนวนคนเล่นพนันเพิ่มขึ้นถึง 4.1 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นพอๆ กับภาคอีสาน ทั้งที่มีประชากรน้อยกว่า หมายความว่า กทม.และปริมณฑลเป็นจุดที่มีการพนันเพิ่มขึ้นมากกว่าที่อื่น

เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า แม้นักพนันส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงวัยทำงาน แต่ที่น่ากังวล คือ เด็กอายุ 15-18 ปี เล่นการพนัน 20.9% หรือ 7.33 แสนคน เยาวชนอายุ 19-25 ปี เล่นพนัน 46.3% หรือ 3.05 ล้านคน และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เล่นพนัน 42.2% หรือ 3.35 ล้านคน สำหรับอายุเริ่มเล่นพนันครั้งแรกต่ำสุดอยู่ที่ 7 ขวบ สูงสุดที่ 62 ปี

ทั้งนี้ การพนันยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สลากกินแบ่งรัฐบาล 22 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 1.3 ล้านคน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท 2.หวยใต้ดิน 17 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1 แสนคน วงเงิน 1.53 แสนล้านบาท 3.ไพ่ 4.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.2 แสนคน 4.พนันทายผลฟุตบอล 3.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.8 แสนคน วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 และ 5.ไฮโล/โปปั่น/น้ำเต้าปูปลา 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.9 แสนคน แต่หากแยกเป็นอายุ จะพบว่า กลุ่มเยาวชนอายุ 15-18 ปี เล่นหวยใต้ดินมากที่สุด

"สลากกินแบ่งฯ มีกำหนดห้ามขายในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่จากการสำรวจพบว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี มีถึง 4.72 แสนคน ขณะที่จำนวนเงินที่ซื้อต่องวดเพิ่มมากขึ้น ความถี่ในการซื้อทุกงวดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสื่อต่างๆ ก็รีบประกาศรางวัล มีการถ่ายทอดสด และพูดถึงตลอดในข่าว ทำให้เกิดการกระตุ้นผู้คนตลอดเวลา รวมถึงการเพิ่มจำนวนสลากกินแบ่งฯ ทำให้เกิดการซื้อที่มากขึ้น คนหมกมุ่นมากขึ้น และไปกระตุ้นการเล่นหวยใต้ดินมากขึ้นด้วย โดยพบว่า 13 ล้านคน เล่นทั้งหมดสลากกินแบ่งฯ และหวยใต้ดิน จำนวนเงินและความถี่ในการซื้อก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับสลากกินแบ่งฯ" รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว

รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ในส่วนพนันออนไลน์พบว่า มีคนเล่น 1.55% หรือ 8.26 แสนคน เป็นนักพนันหน้าใหม่ 9.1 หมื่นคน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ช่องทางในการเล่น คือ โทรศัพท์มือถือ 97% คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก 6.3% และแท็บเล็ต 4.2% ประเภทของการเล่นพนันออนไลน์ เป็น บาคาร่า ป๊อกเด้ง 45.2% ไพ่ชนิดอื่นๆ เช่น ผสมสิบ เสือมังกร 27.6% สลอตแมชชีน ตู้เกม 20% พนันทายผลกีฬา 16.7% สาเหตุที่เล่น คือ สะดวก ง่าย เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา 93.7% ฝากถอนเงินจากระบบรวดเร็ว 39.3% เพื่อนชวน 33.7% ปกปิดเป็นความลับ มั่นใจว่าจะไม่ถูกจับได้ 33.1% สำหรับการเล่นพนัที่เป็นปัญหามี 2.1 แสนคน เป็นเบาวชนอายุ 15-25 ปี 3.8 หมื่นคน วัยทำงาน 26-59 ปี 1.4 แสนคน และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 2.4 หมื่นคน ทั้งนี้ ยังมี 3.7 ล้านคนมีพฤติกรรมเสี่ยงจะกลายเป็นนักพนันที่มีปัญหา มีผู้มองว่าตนเองติดพนัน 17.2% หรือ 5.2 ล้านคน เป็นเยาวชนอายุ 15-25 ปี 4 แสนคน

"ตอนนี้สลากกินแบ่งฯ ออกมาประมาณ 100 ล้านใบ มองว่าสำนักงานสลากฯ ต้องหยุดบ้างในการเพิ่มปริมาณสลากฯ ต่อไป เพราะยิ่งเพิ่มก็ยิ่งส่งเสริมให้เกิดการซื้อมากขึ้น จำนวนผู้ขายก็มากขึ้น ทุกหนทุกแห่งเจอคนขายสลากฯ ตลอดเวลา นอกจากที่สื่อนำเสนอคนถูกรางวัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมการขาย ซึ่งตัวเลขการศึกษาเราก็เปิดเผย และใช้ข้อมูลนี้เป็นความจริงให้รัฐบาลตระหนักว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา เพราะการดำเนินนโยบายอะไรก็ตาม ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลของความจริงว่าเป็นอย่างไร และจากการสำรวจครั้งนี้ คนที่เห็นด้วยกับการทำให้การพนันถูกกฎหมายมีแค่ 30% แต่คนไม่เห็นด้วย 50% หากรัฐบาลคิดคงต้องทำงานหนัก จะคุยอย่างไรกับประชาชนทั้งประเทศที่เริ่มไม่เห็นด้วยว่าการพนันมันเยอะมาก แค่สลากฯ ก็เยอะมากแล้ว " รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว

สอดคล้องกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ขณะนี้คนเล่นการพนันเพิ่มมากขึ้น เล่นจำนวนสูงมากขึ้น คนยังไม่มองว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนัน แต่คนไม่เห็นด้วยกับการพนันอื่นๆ มากขึ้น เช่น หวยใต้ดิน กาสิโนถูกกฎหมาย ส่วนปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น คือ การพนันออนไลน์ การพนันทายผลฟุตบอล ซึ่งวงเงินถือว่าสูงกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล สิ่งที่อยากเสนอ คือ รัฐบาลหรือสำนักงานสลากฯ ควรตั้งองค์กรที่ดูแลปัญหาที่เกิดจากพนัน เช่น มีคณะกรรมการป้องกันและลดปัญหาจากการพนัน เหมือนอย่างต่างประเทศ ที่สร้างความสมดุลในสังคม ป้องกันไม่ให้คนเล่นการพนันก้าวล้ำเส้นเสี่ยงไปสู่ภาวะ “ติดการพนัน” และควรมีการเอาภาษีบาป คือ ภาษีจากการพนันเอามาใช้ขับเคลื่อนสร้างความรู้และป้องกันแก้ปัญหาพนันให้สังคมเข้มแข็งขึ้น แบบ สสส.ที่นำเงินภาษีจากบุหรี่ เหล้า มาขับเคลื่อนงาน ส่วนเรื่องใต้ดินเองก็ควรปราบปรามอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม จะยังเดินหน้าพัฒนาและผลักดันการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธารณะและมาตรการต่างๆ ที่จะต้องมีทิศทางไม่เพิ่มพื้นที่การพนัน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการขยายการพนันให้ถูกกฎหมายมากขึ้น เพราะไม่เชื่อเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับจริง เมื่อเทียบกับผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้น หากดูตัวเลขที่สำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน ก็ค่อนข้างยืนยันความคิดนี้ การทำให้ถูกกฎหมาย แนวโน้มที่จะเพิ่มคนเล่นมันชัดเจน และการเพิ่มการพนันที่ถูกกฎหมายก็ไม่ได้ไปทดแทนการพนันที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ผลสำรวจก็ชัดเจนมีคนเล่นสลากกินแบ่งฯ และหวยใต้ดินทั้งสองอย่างถึง 13 ล้านคน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาล คือ รัฐบาลควรมองนโยบายต่างๆ ในภาพรวมมากขึ้น ไม่ใช่แต่ละหน่วยงานต่างมีเป้าหมายของตัวเอง อย่างกองสลากฯ อาจคิดถึงแต่เรื่องรายได้ รัฐบาลคิดถึงเรื่องภาษี ขณะที่หน่วยงานเจ้าภาพดูแลผลกระทบทางสังคมยังมีไม่ชัดเจน นี่คือข้อห่วงใย ดังนั้น จะต้องนำข้อมูลทางวิชาการที่เป็นข้อเท็จจริงเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายดูแลแก้ไข เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชนที่หันมาเล่นพนันมากขึ้น ปัญหาของนักพนันหน้าใหม่ ผู้มีรายได้น้อย การเติบโตของการพนันฟุตบอล หรือเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความสะดวกในการเล่นพนันมากขึ้น หรือคนเล่นพนันรู้สึกว่าเล่นแล้วคนไม่น่าจะรู้ จะต้องทำเป็นประเด็นเชิงนโยบายเจาะเฉพาะกลุ่มเหล่านี้ด้วย และที่สำคัญหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและสังคมต้องมองเห็นปัญหาและมีการพูดคุยที่เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่มีอยู่แล้ว และยังเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจอยู่





กำลังโหลดความคิดเห็น