การเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของทั้งสองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการหาเสียงไว้ตั้งแต่ตอนเลือกตั้ง
แต่การจะเพิ่มค่าตอบแทนขึ้นมานั้น นายอนุทิน ย้ำไว้ว่า จะต้องมีทักษะ มีความสามารถที่เพิ่มขึ้น ในการช่วยดูแลสุขภาพประชาชน ลดการเจ็บป่วย ลดการไปโรงพยาบาล เพื่อลดปัญหาความแออัดของโรงพยาบาล โดยจะพัฒนา อสม.ที่มีกว่า 1.04 ล้านคน ให้เป็นหมอประจำครอบครัว
และเมื่อการเจ็บป่วยของประชาชนลดน้อยลง ไปโรงพยาบาลน้อยลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลง ก็จะนำงบประมาณที่ประหยัดลงไปได้นั้น มาเป็นค่าตอบแทนเพิ่มให้แก่ อสม.โดยที่ไม่ต้องมีการคืนงบประมาณ โดยตั้งเป้าให้ อสม. 1 คน รับผิดชอบดูแลประชาชนคนละ 20-25 คน
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าตอบแทน อสม.ตามนโยบายในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม.ทุกคน แต่จะมีการอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็นหมอประจำครอบครัว นำร่องที่ 8 หมื่นคนก่อนจากทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 คน ซึ่งทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีการจัดทำหลักสูตร อสม.หมอประจำครอบครัวเสร็จสิ้นแล้ว แบ่งเป็น 6 วิชา ได้แก่ 1.วิชาอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) และบทบาท อสม.หมอประจำบ้าน 2.วิชาการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมไม่ให้เกิดโรคในพื้นที่ 3.วิชาส่งเสริมสุขภาพและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 4.วิชาภูมิปัญญาไทย สมุนไพร และการใช้กัญชาทางการแพทย์ 5.วิชาเทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ โทรเวชกรรม และแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพ และ 6.การเป็นผู้นำการสร้างสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
โดยการอบรมจะใช้เวลาทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง และจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการติดตามประเมินผล หรือในช่วงราว เม.ย. 2563 เพื่อประเมินว่า อสม.ที่อบรมเป็นมอบหมอประจำครอบครัวไปนั้น สามารถทำงานได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยจะมีการเฟ้น อสม.ล็อตแรกที่ทำงานผลงานได้ดีจำนวน 8 พันคนเท่านั้น ที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มก่อนเป็นจำนวน 2,500 บาท จากปัจจุบันที่ได้รับอยู่ 1,000 บาท
การเพิ่มค่าตอบแทน อสม.ต่างก็มีทั้งผู้สนับสนุนและไม่เห็นด้วย มีการมองทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในความเห็นของ น.ส.ยุพิน ภังคะญาณ ประธาน อสม. อำเภอเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ระบุชัดว่า เรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาให้ดีๆ เพราะอาจสร้างปัญหาให้แก่กระทรวงสาธารณสุขในภายหลัง รวมทั้งอาจสร้างความแตกแยก ไม่ยุติธรรม เพราะมีคนได้ คนไม่ได้ ทั้งที่มีความสามารถเหมือนกัน และที่สำคัญคือ เมื่อมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เอามาเป็นตัวตั้ง จะทำให้ความเป็นจิตอาสาหยไปหรือไม่ และคนก็จะเข้ามาทำงานโดยไม่ได้มีจิตวิญญาณของจิตอาสาอีกต่อไป
“จุดเริ่มของการเกิด อสม.นั้น เป็นการทำด้วยใจ อย่างตนเป็น อสม.มาตั้งแต่แรก ไม่ได้อะไรเลย รุ่นแรกๆ ไม่มีค่าตอบแทน แต่ทำด้วยจิตอาสา ไม่ได้จ้องจะเอาเงิน ตนกังวลว่า การมีเรื่องค่าตอบแทนเข้ามาจะทำให้เกิดการแบ่งแยก เพราะมีคนได้ค่าตอบแทนเพิ่ม บางคนไม่ได้ ทั้งที่เขาก็มองว่าเขามีความสามารถในการดูแลชาวบ้านและประชาชนเหมือนกัน รวมถึงเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกว่า คนนี้พวกฉัน คนนั้นพวกเขาเอาได้" น.ส.ยุพิน กล่าว
น.ส.ยุพิน กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญคือ การเข้ามาทำหน้าที่ อสม. เป็นการทำงานจิตอาสา ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน หากเอาเงินเป็นตัวตั้งความเป็นจิตอาสาจะลดลง ซึ่งตลอดเวลาที่เป็น อสม.มา 20 กว่าปี เริ่มเบื่อตรงที่เวลามีเงิน หรือมีค่าตอบแทนมา ก็จะมีคนเข้ามาเป็น อสม.กันเยอะ ซึ่งตนมองว่า คนที่จะเข้ามาทำงานเป็น อสม. ควรจะต้องมีความพร้อมจริงๆ ที่จะมาเป็นจิตอาสา สามารถจัดสรรงานการของตัวเองได้อย่างลงตัว แล้วเอาเวลาที่ว่างมาทำหน้าที่ อสม.ให้เกิดประโยชน์ ไปดูแลชาวบ้าน ซึ่งเรื่องเงินค่าป่วยการหรือค่าตอบแทนที่ให้มานั้น ก็จะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะค่าตอบแทนเดือนละ 600 บาท 1,000 บาท หรือ 2,000 บาท ก็ไม่ได้ว่าจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่ยอมรับว่าปัจจุบันก็มีบางส่วนที่เข้ามา ผ่านการดึงของคนนั้นคนนี้ เพื่อเข้ามาเอาเรื่องของเงิน สวัสดิการต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ อสม.อย่างจริงจัง จึงอยากให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี
น.ส.ยุพิน กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เปลี่ยนจากเงิน มาเป็นสิ่งของเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ อสม.ในการลงพื้นที่ดูแลประชาชนจะดีกว่าหรือไม่ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เพราะ อสม.ทุกคนไม่มี จะมีแค่เฉพาะประธานตำบล ประธานหมู่ และแต่ละเคสก็อยู่ห่างไกลกัน หากมีสักหมู่ละ 2 เครื่อง ก็จะทำงานได้รวดเร็ว ไม่ต้องวิ่งมาที่โรงพยาบาล อย่างผู้ป่วยบางคนต้องวัดความดันตลอด บางคนทุก 2 ชั่วโมงก็มี หากไปยืมของโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็ขาดเครื่องมือ แต่ถ้ามีประจำไปเลยก็จะดีกว่า ดังนั้น ควรมองว่า อสม.ทำอะไรที่จำเป็นก็สนับสนุน เช่น การเจาะเลือด การวัดความดัน ก็ควรมีเครื่องมือสนับสนุน
"หรือหากจัดงบประมาณให้แต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ อสม.พิจารณาสิ่งไหนจำเป็นต่อหมู่บ้าน แบบนั้นก็ดี เพราะเคยมีเหมือนกัน แต่ปัจจุบันโอนไปให้เทศบาลแล้ว ซึ่งเทศบาลไหนสนับสนุนงบประมาณให้ อสม.ก็ดี แต่ก็มีบางเทศบาลที่ไม่สนับสนุนก็จะแย่ เพราะบางเทศบาลก็ไม่มีการแบ่งงบประมาณไว้ให้" น.ส.ยุพิน กล่าว
ส่วนกรณีที่จะมีการตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ และกองทุนบำนาญให้ อสม.นั้น น.ส.ยุพิน สะท้อนว่า เป็นเรื่องดี แต่ปัจจุบันยังไม่ได้เปิดบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นปัญหามาก เนื่องจากไปกำหนดว่าใครจะเข้ากองทุนก็ต้องเปิดธนาคารนี้ อย่างบนเกาะสีชัง ไม่มี ธกส. ต้องข้ามฝั่งเพื่อไปเปิดบัญชี 500 บาท จริงๆ น่าจะอะลุ่มอล่วยหน่อย ซึ่งจริงๆ กองทุนฌาปนกิจก็ยังไม่นิ่ง พวกเราก็รอก่อนดีกว่า อย่างไรก็ตาม สนับสนุนกองทุนฌาปนกิจ เพียงแต่รายละเอียดอาจต้องให้อสม.สะดวกมากขึ้นด้วย ไม่ใช่จำกัดว่า ต้องธนาคารนี้เท่านั้น จริงๆธนาคารไหนก็น่าจะได้
“ส่วนกองทุนบำนาญนั้น มองว่า เยอะเกินไปหากต้องมาหักเงินจากค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ เพราะอสม.บางคนก็ไม่ได้มีเงินมากพอ และการจะมาหักเงินเพื่อเก็บสะสมก็กระทบการเงิน อสม.ได้ ประเด็นนี้อยากให้ถาม อสม.ส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่แค่ถามเฉพาะประธานเท่านั้น ต้องลงมาถามในพื้นที่เลย” น.ส.ยุพิน กล่าวและว่า ส่วนที่ว่า รัฐสมทบให้ 200 บาท และหักอสม.อีก 100 บาททุกเดือนเพื่อสะสม ส่วนตัวมองว่า ก็ไม่ต้องให้ค่าตอบแทน แต่ไปเฉลี่ยเงินส่วนนี้ดีกว่าว่า จะให้อสม.อย่างไร อาจเป็นเพิ่มสิทธิสวัสดิการค่ารักษา เงินพิการ เอาไปทำกองทุนเองดีกว่า ไม่ต้องมาเรียกเก็บ จริงๆ สำหรับตัวเองเดือนละ 100 บาทไม่ได้มาก หักได้ แต่สำหรับบางคนอาจไม่ใช่
การเพิ่มค่าตอบแทน อสม.จะออกมาในรูปแบบใด ใช้เกณฑ์แบบไหนในการประเมินว่า คนไหนควรได้ก่อนได้หลัง สธ.คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่สิ่งสำคัญคือ การทำงานที่ขึ้นชื่อว่า "อาสา" หรือเข้ามาเป็นจิตอาสา หากมีการเอาเงินเป็นตัวตั้ง ความเป็นจิตอาสาก็อาจสูญสลายไป จนสุดท้ายลมไปว่า อสม.เข้ามาทำงานตั้งแต่แรกด้วยอะไร ใช่เพราะเงินหรือไม่!!