แน่นอนว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่จะได้มีเวลาดูแลและอบรมสั่งสอนลูกหลานอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเกิดผลดีต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม ช่วยหล่อหลอมบุคลิกภาพที่เหมาะสมให้กับเด็ก อีกทั้งยังช่วยป้องกันปัญหาไม่พึงประสงค์มากมายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากปล่อยให้เด็กมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับคนในครอบครัว ไม่ว่าการติดเพื่อนและชักนำกันไปในทางผิดๆ มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม หรือมีพฤติกรรมเก็บตัว ทำให้แนวคิดที่ต้องตามติดดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเข้ามามีอิทธิพลต่อการให้พื้นที่และเวลาสำหรับเด็ก
แม้การดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดจะเป็นเรื่องดีที่ควรสนับสนุน แต่บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่เกิดความวิตกกังวลและหวาดระแวงมากเกินไป กลัวเรื่องไม่ดีหรือสิ่งอันตรายที่อาจเกิดกับลูกไปสารพัด รวมทั้งปัจจุบันมีแนวคิดและวิธีการใหม่ๆที่น่าสนใจมานำเสนอเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกมากมายจนนับไม่ถ้วน ทำให้ผู้ปกครองหลายคนเกิดความไขว้เขวจับต้นชนปลายไม่ถูกจนหาทิศทางที่ชัดเจนไม่ได้ ซ้ำร้ายยังทำให้หลายครอบครัวมีปัญหาไม่ลงรอยกันในแนวทางการดูแลลูก เด็กจึงกลายเป็นหนูทดลองและอยู่บนความขัดแย้งของผู้ใหญ่โดยไม่ตั้งใจ
สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่แปรเปลี่ยนความตั้งใจและความประสงค์ดีให้กลายเป็นผลร้ายที่เกิดกับเด็ก การเข้าไปสอดส่องจับตาดูหรือยุ่งเกี่ยวจัดการทุกเรื่องในชีวิตบนพื้นฐานของความปรารถนาดีและเพื่อป้องกันเรื่องไม่ดีที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนั้นอาจดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผลสำหรับผู้ปกครอง แต่ไม่ใช่สำหรับเด็ก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กซึ่งเติบโตในครอบครัวที่มีข้อจำกัดในการสร้างพื้นที่ส่วนตัวและกำหนดระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวอย่างเหมาะสมนั้นจะมีอุปสรรคในการพัฒนาความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ความต้องการพื้นที่ส่วนตัวไม่จำเป็นต้องหมายถึงเฉพาะเด็กโตหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กเล็กที่ต้องการพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างเป็นอิสระในบางเวลานอกเหนือจากการถูกชี้นำและควบคุมโดยผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เด็กที่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกจับจ้อง ควบคุมและตรวจสอบ รวมถึงถูกแทรกแซงการตัดสินใจ จึงมีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพไม่มั่นคง ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรืออาจมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากความคาดหวัง ซึ่งสะท้อนถึงความอึดอัดคับข้องใจจากการถูกละเมิดความไว้วางใจต่อกัน
การเปิดโอกาสให้เด็กสร้างพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่และอุปกรณ์การใช้งานของตัวเองในการทำงานอดิเรก การสร้างสรรค์วิธีการเรียนรู้ของตัวเองผ่านการเล่น การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อคิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาหรือวางเป้าหมายสำหรับอนาคต การเขียนบันทึกและถ่ายทอดจินตนาการแปลกใหม่ลงในบล็อคส่วนตัว หรือแม้แต่การพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์นั้น นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตของเด็กๆที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจำเป็นต้องตระหนักถึงอยู่เสมอ
เด็กที่สามารถจัดการกับพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยส่งเสริมการสร้างบุคลิกภาพและตัวตนที่ชัดเจนได้อย่างราบรื่นแล้ว ยังช่วยฝึกฝนความรับผิดชอบและวินัยในตนเอง เห็นคุณค่าของพื้นที่และเวลาของตัวเอง รวมทั้งเคารพและเห็นคุณค่าของพื้นที่และเวลาของครอบครัว ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีบทบาทช่วยสร้างสมดุลการใช้พื้นที่ส่วนตัวไปพร้อมๆกับพื้นที่ส่วนอื่นให้กับเด็กๆ โดยอาศัยแนวทางดังต่อไปนี้
1.จัดสรรพื้นที่ที่ลูกๆจะสามารถได้ใช้เวลาของตัวเองได้อย่างเต็มที่ อาจเป็นห้องนอน ห้องพักผ่อนส่วนตัว หรือจัดมุมสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถมองเห็นและเข้าถึงเพื่อคอยให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือได้สะดวก ซึ่งจำเป็นต้องมีการยอมรับเงื่อนไข กติกาและเวลาในการใช้พื้นที่ให้เข้าใจตรงกันเสมอ
2.พื้นที่ส่วนตัวยังหมายรวมถึงเครื่องใช้และอุปกรณ์ อาทิ ของเล่น สมุดบันทึก จดหมาย กระเป๋าใส่ของ เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน คุณพ่อคุณแม่ต้องเคารพความเป็นส่วนตัวโดยไม่ไปหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายโดยไม่จำเป็นหรือไม่บอกกล่าวล่วงหน้า รวมทั้งช่วยปกป้องพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
3.คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ติดตาม ให้คำแนะนำและตักเตือนเมื่อเกิดการกระทำที่ผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลง อาทิ ไม่รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย การใช้พื้นที่ในทางไม่เหมาะสมหรือเกินเวลาที่กำหนด เพื่อให้เด็กได้รับรู้และแก้ไขปรับปรุงโดยเร็วในการที่จะรักษาสิทธิประโยชน์ในการใช้พื้นที่ของตัวเอง
4.หลีกเลี่ยงการสร้างความอึดอัดคับข้องใจจากการละเมิดความไว้วางใจต่อกัน เนื่องจากความเข้าใจผิดว่าในฐานะผู้ปกครอง ตนเองถือเป็นเจ้าของชีวิตและสิ่งของทุกอย่างที่เด็กต้องพึ่งพา จึงไม่ระวังคำพูดหรือการกระทำที่อาจกระทบกับความรู้สึกและพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก ทำให้การขอความร่วมมือในเรื่องต่างๆทำได้ลำบากยิ่งขึ้น
5.มีหลายเรื่องในพื้นที่ส่วนตัวที่คนในครอบครัวทำได้เพียงเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆด้วยความห่วงใย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพัฒนาความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างสมาชิก ทำตัวเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจให้ลูกๆได้รับรู้ว่ามีคนคอยสนับสนุนอยู่เสมอ โดยการสร้างพื้นที่ครอบครัวที่สามารถส่งมอบกำลังใจและพร้อมให้คำปรึกษาได้ทุกเวลาขึ้นมารองรับ
หากเปรียบเทียบกันแล้วการที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นหลักในการเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ย่อมน่าจะเกิดผลดีต่อเด็กมากกว่ามอบหน้าที่นี้ให้บุคคลหรือเครื่องมืออื่น และจะเกิดผลดียิ่งขึ้นหากคุณพ่อคุณแม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างการดูแลและคอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดกับการเคารพพื้นที่ส่วนตัวให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง