xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ร.บ.การผังเมือง” โฉมใหม่ ดีอย่างไร ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 กำลังจะสิ้นสภาพ เนื่องจากพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาเพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 รวมถึงพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขอีกสามฉบับ ซึ่ง พ.ร.บ.การผังเมืองฉบับใหม่ จะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพื้นที่ หรือการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศกับนานาประเทศ

ก่อนที่ “พ.ร.บ.การผังเมือง” ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ หลายคนคงมีข้อคำถามว่าของเดิมกับของใหม่แตกต่างกันอย่างไร และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งภาพรวมของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เพิ่มกรอบนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางและแผนงานการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ให้เกิดการพัฒนาทางด้านกายภาพอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในภาพรวม และคณะกรรมการที่เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานภาครัฐให้ปฏิบัติการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมืองได้อย่างมีประสทิธิภาพยิ่งขึ้น

ทำไมต้องมี พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562?

สำหรับเป็นกรอบชี้นำการพัฒนาทางกายภาพในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับเมือง ระดับชนบท ควบคุมและกำกับการพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีหรือทำให้ดียิ่งขึ้นในด้านความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม การป้องกันภัยพิบัติ การป้องกันการขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งผลให้ประเทศเกิดการพัฒนาและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งนี้ พ.ร.บ.การผังเมือง ฉบับใหม่ เป็นการปฏิรูปการผังเมืองทั้งระบบทำให้การบริหารจัดการผังเมืองมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบประเทศสู่ระดับเมืองหรือชุมชน ทำให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้มีมาตรการทางกฎหมายและสภาพบังคับให้การบริหารจัดการผังเมืองอย่างเป็นระบบตามกลไกและกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการผังเมืองสามารถชี้นำการพัฒนาภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง

แก่นสำคัญของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562

เพื่อขับเคลื่อนการผังเมืองให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องมือการพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” พ.ร.บ.การผังเมือง ฉบับใหม่ จึงได้มีการปรับประเภทของผังเมือง จากเดิมมี 2 ประเภท ได้แก่ ผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ เป็น 2 กลุ่ม 5 ประเภท คือ 1.ผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผังนโยบายระดับประเทศ, ผังนโยบายระดับภาค และผังนโยบายระดับจังหวัด 2.ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ

ข้อดีของการปรับครั้งนี้ ผังเมืองจะมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันทั้งระบบตั้งแต่ระดับประเทศ : เชื่อมโยงกับประเทศรอบด้านและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ภาค จังหวัด เมืองและชนบท มากขึ้น ทำให้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการผังเมืองได้เหมาะสมสอดรับกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการกระจายอำนาจในการวางและจัดทำผังเมืองให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยมีคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติเป็นผู้กำหนดนโยบาย-ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในภาพรวม และมีคณะกรรมการผังเมืองและคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานภาครัฐให้ปฏิบัติการ ท้ายที่สุดประเทศจะได้รับการพัฒนา มีความเป็นระเบียบสวยงามและมีความปลอดภัย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.การผังเมือง ฉบับใหม่ ยังได้ปรับคณะกรรมการใหม่ซึ่งจากเดิมมีคณะกรรมการผังเมืองเพียงคณะเดียว ปรับใหม่เป็นคณะกรรมการ 3 ระดับ คือ 1.คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน และมีรัฐมนตรีหลายกระทรวงเป็นคณะกรรม เช่น รมว.กระทรวงการคลัง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.คณะกรรมการผังเมือง ซึ่งมีองค์ประกอบ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ของคณะกรรมการมากขึ้น และ 3.คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบผังเมืองรวมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำผัง ข้อดีของคณะกรรมการดังกล่าว จะทำให้ผังแต่ละระดับผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา รวมถึงการพัฒนาผังแต่ละประเภทโดยคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติจะคอยเป็นผู้กำหนดนโยบาย-ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในภาพรวม ขณะที่คณะกรรมการผังเมืองและคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดจะเป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานรัฐให้ปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.การผังเมือง ฉบับใหม่ ยังปรับรูปแบบการใช้ผังต่างๆ เร็วขึ้น โดยในกรณีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้วางและจัดทำผัง ให้ประกาศบังคับใช้โดยกระทรวงมหาดไทย กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำผัง ให้ประกาศใช้บังคับโดยข้อบัญญัติท้องถิ่น ส่วนผังเมืองเฉพาะให้ประกาศบังคับใช้โดยพระราชกฤษฎีกา กรณีเช่นไม่มีการเวียนคืนอสังหาริมทรัพย์ ดัดแปลงรื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

และที่สำคัญ พ.ร.บ.การผังเมือง ฉบับใหม่ ยังได้กระจายอำนาจในการวางและจัดทำผังเมืองรวมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเอง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการผังเมืองก่อนตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 ซึ่งทำให้การจัดทำผังเมืองรวมเร็วขึ้น เหมาะสมกับพื้นที่ และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนมากขึ้น อีกด้วย

พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ประชาชนได้อะไร?

แน่นอนว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำผังมากขึ้น เนื่องจากการที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดให้ประชาชน หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในผังทุกประเภทมากขึ้น โดยให้คำนึกถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบในผังแต่ละประเภท ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง ประชาชนสามารถติดตามการประกาศได้จากสื่อและเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th Facebook : @dpt.pr.go.th งานประชาสัมพันธ์กรมโยธาธิการและผังเมือง Line@ ; @dpt.go.th โยธาและผังเมือง ไม่ได้มีการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมสงวนสิทธิ์ดังกล่างเป็นหนังสือส่งในระยะเวลาและสถานที่ๆได้กำหนด ไว้ในประกาศกรมโยธาธิการและผังเมือง “มิฉะนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผังเมืองตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ จะเป็นผังเมืองที่มาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำให้ภาคเอกชนมีกรอบในการลงทุนและแผนพัฒนาพื้นที่ที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากมีนโยบายภาครัฐและแผนผังการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น ประชาชนได้รับการบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้อย่างเหมาะสม เพียงพอ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

อันจะทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต มีความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่ถูกจัดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ นับได้ว่าเป็นการเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาเศรษฐกิจ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศกับนานาประเทศ อีกทางหนึ่ง









กำลังโหลดความคิดเห็น