โดย...ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีกรมศิลปากร เรียบเรียงเนื่องในวันคล้ายวันประสูติหม่อมเจ้าหญิงเม้า ทองแถม 30 กันยายน 2562
วันที่ 30 ก.ย.เป็นวันคล้ายวันประสูติ หม่อมเจ้าหญิงเม้า ทองแถม โดยท่านหญิงเม้าประสูติเมื่อวันจันทร์ ที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2401 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระธิดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ (ต้นราชสกุลรองทรง) ประสูติแต่หม่อมรอต ต่อมาได้เป็นพระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (ต้นราชสกุลทองแถม) มีโอรสธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 พระองค์ ได้แก่
1. หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม
2. หม่อมเจ้าทองชมพูนุท ทองแถม
3. หม่อมเจ้าทองเติม ทองแถม
4. หม่อมเจ้าทองต่อ ทองแถม
5. หม่อมเจ้าหญิงสุวรรณโสภา ทองแถม
6. หม่อมเจ้าทองบรรณาการ ทองแถม
หม่อมเจ้าหญิงเม้า ประพฤติและรักษาองค์สมควรแก่เกียรติศักดิ์แห่งราชสกุลอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งโปรดการทำบุญเป็นอย่างมาก ดังปรากฏที่จารึกตรงหอระฆังบวรวงศ์ วัดเบญจมบพิตร ว่าหม่อมเจ้าหญิงเม้า มีส่วนร่วมบริจาคทรัพย์ในการก่อสร้างครั้งนั้นด้วย นอกจากนี้ท่านหญิงเม้ายังมีพระทัยโอบอ้อมอารีต่อพระญาติและบุคคลที่ทรงรู้จักโดยทั่วไป อีกทั้งเป็นที่ต้องอัธยาศัยของผู้ใหญ่ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ยกย่องเกียรติศักดิ์ท่านหญิงเม้า ไว้ในชั้นหม่อมเจ้าอันสูงศักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า เมื่อปีพุทธศักราช 2443 และพระราชทานเลื่อนชั้นเป็นทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อปีพุทธศักราช 2451 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร. 3)
ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลื่อนชั้นขึ้นเป็นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ต่อมาเมื่อมีชนมายุมากขึ้นก็ยังเสด็จเข้าในพระราชฐานในการพระราชพิธีเสมอมา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหญิงเม้าประชวรด้วยโรคปัปผาสะพิการ อาการมีแต่ทรงกับทรุด จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม จึงถึงชีพิตักษัย มีชนมายุนับเรียงปีได้ 78 ปี พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดขึ้น ณ วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2479