xs
xsm
sm
md
lg

"สเปรดเมล็ดมะขาม" อร่อย สุขภาพดี แคลอรีต่ำ นวัตกรรม FOODTECH ผีมือ นศ.ฟู้ดไซน์ มธ.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มะขามนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งของไทย โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะขามรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตมะขามมากเป็นอันดับสองในโลก ส่วนใหญ่มักจะส่งออกในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นทั้งมะขามสด มะขามเปียก และมะขามแห้ง รวมถึงมะขามแปรรูปต่างๆ

ในประเทศไทยนิยมปลูกมะขามทั้งในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ แพร่ น่าน ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย มุกดาหาร นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ หนองคาย สกลนคร นครพนม อุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี สระแก้ว ส่วนจังหวัดที่ปลูกมะขามหวานมากที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดก็คือ จังหวัดเพชรบูรณ์

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมแปรรูปมะขามของไทยนั้น นำมะขามไปแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นมะขามหวานอบแห้งไร้เมล็ด มะขามคลุกน้ำตาล มะขามแช่อิ่ม หรือแปรรูปเป็นสินค้าจำพวกซอสมะขาม น้ำมะขามเปียก และน้ำมะขามชงดื่ม เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูปเหล่านี้ถือเป็นสินค้าที่ทานได้ทุกเพศทุกวัย เหมาะกับเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังมาแรงและมีการเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมะขามหวานมีคุณประโยชน์มากมาย เป็นยาระบายอ่อนๆ ตามธรรมชาติ หวานธรรมชาติไม่ต้องใส่น้ำตาล ไฟเบอร์สูง ทั้งมีประโยชน์และทานเพลิน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (FOOD SCIENCE AND TACHNOLOGY PROGRAM) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้คิดค้นและสร้างสรรค์ผลงาน “ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” หรือสเปรด (Spreads) สำหรับใช้รับประทานคู่กับขนมปังที่ทุกคนสามารถทานได้ เนื่องจากมองเห็นช่องทางของการนำเมล็ดมะขามที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปไปต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างมูลค่าและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการเติบโตของมะขามได้อีกช่องทางหนึ่งอีกด้วย

สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” ทีม TAMSEED ผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ ได้เล่าว่ามาจากการที่เห็นเมล็ดมะขามเหลือทิ้ง ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปมะขามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมล็ดมะขามดังกล่าว หากนำไปจำหน่ายจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 - 3 บาท เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องการนำเม็ดมะขามไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งตนเองและเพื่อน ๆ ในทีมกำลังศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารอยู่แล้ว ทราบว่าปัจจุบันมีคนที่แพ้อาหารเป็นจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะ แพ้กุ้ง แพ้แลคโทสในนม แพ้ถั่วลิสงและถั่วชนิดต่างๆ ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ทีมมีความต้องการที่อยากจะคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารที่ทุกคนสามารถรับประทานได้ โดยไม่มีสารก่อภูมิแพ้ หรือที่เรียกว่า "Allergen Free" แต่ก่อนที่จะลงมือทำ ก็ต้องไปทำการสำรวจตลาดมาก่อนว่าเมล็ดมะขามจะสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบไหนได้บ้าง แล้วพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรด (Spreads) หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาหรือป้ายกับขนมปังหลากหลายแบบ ยังมีช่องว่างและสามารถต่อยอดในการทำธุรกิจในอนาคตได้ จึงได้พัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม โดยใช้เมล็ดมะขามจากอุตสาหกรรมแปรรูปของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยไม่จำกัดสายพันธุ์ของมะขาม

ในขณะที่ขั้นตอนการผลิต ผลิตภัณฑ์ TAM-MY เริ่มต้นจากการบดเมล็ดมะขามให้เป็นแป้ง แล้วนำไปร่อน ก่อนนำมาผสมกับส่วนผสมต่าง ๆ ให้เกิดรสชาติ จากนั้นทำการบรรจุร้อน (Hot Filling) และฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ TAM-MY ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” มาพร้อมกับคุณประโยชน์มากมาย โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีไฟเบอร์สูง ไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล และเป็นผลิตภัณฑ์ Allergen-Free ซึ่งเหมาะกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนที่รักสุขภาพ และกลุ่มคนที่แพ้อาหารที่ประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ถั่วลิสง นม เป็นต้น อีกทั้งรสชาติจะมีความคล้ายกับเนยถั่ว เนื่องจากมีกลิ่นหอมเหมือนถั่วลิสง แต่ความมันจะน้อยกว่าเนยถั่วทางการค้า เพราะมีไขมันต่ำกว่าผลิตภัณฑ์เนยถั่วทางการค้าประมาณ 6 - 7 เท่า

ล่าสุด ผลงาน “ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Innovation Contest) 2019 จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FOSTAT) รวมถึง ได้รับรางวัล Popular Vote อีกด้วย  โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยของทีม TAMSEED ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (DEPARTMENT OF FOOD SCIENCE AND TECHNOLOGY) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ประกอบไปด้วย นายพศวีร์ เจียไพบูลย์ นายฉัตรวุฒิ สุรฤกษ์ นางสาวจันทกานต์ เกิดกัน นางสาวณิชกานต์ พุทธิเสาวภาคย์ นางสาวฐิติรัตน์ พุ่มจันทร์ และนางสาวปรีญานุช เห็นแสงหงษ์ ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.วรางคณา สมพงษ์ และ ผศ.ดร.บุศราภา ลีละวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษา และทีมคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ที่มุ่งเน้นผลิตและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้กล้าคิด กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับแนวคิดของผู้ประกอบการ(Entrepreneurial mindset) เข้าด้วยกัน จนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีศักยภาพในการต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต ตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย

สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมอาหาร “ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” สามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (DEPARTMENT OF FOOD SCIENCE AND TECHNOLOGY) โทรศัพท์ 0-2564-4440-59 ต่อ 2550 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ งานบริการการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิตโทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2002, 2020, 2045 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat



กำลังโหลดความคิดเห็น