xs
xsm
sm
md
lg

เพราะ “การเล่น” มีพลัง! “Play Day เล่นเปลี่ยนโลก”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


     คืนความสุขให้กับเด็ก ให้เด็กเล่น แล้วโลกจะเปลี่ยน...เปิดขุมพลังของการเล่นที่มีผลลัพธ์มหัศจรรย์มากกว่าที่คิด เชื่อหรือไม่ว่า จากกิจกรรมสนุกๆ ที่มีความสุขจากการได้เล่น คือเส้นทางแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการ และที่ยิ่งไปกว่านั้น “สันติภาพ” ของโลกใบนี้ก็สร้างได้ ด้วยการเล่น!...

     มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับเครือข่ายการเล่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข สาธารณสุขศูนย์ 5 สำนักงานเขตปทุมวัน คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กลุ่มไม้ขีดไฟ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) เครือข่ายครูมหัศจรรย์ We Are Happy มูลนิธิเมล็ดฝัน และเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม และ MBK Center ร่วมกันจัดงาน “Play Day วันเล่นสนุก เล่นเปลี่ยนโลก” ณ ลานอเวนิว โซน A MBK Center เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 และ 22 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา
     โดยงานดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขยายแนวคิดการเล่นอิสระและขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิการเล่นในประเทศไทย เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอิสระมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมในงานจัดเป็นมุมเล่นต่างๆ ที่ใช้ธรรมชาติ วัสดุสิ่งของที่หลากหลาย ของรีไซเคิล เครื่องเล่น จำนวน 6 โซน ประกอบด้วย โซนประดิษฐ์คิดค้น MBK SPIRIT ชวนสนุกกับของเล่นรีไซเคิล, โซนเสริมสร้างความมั่นใจ วัยซน, โซน Loose part, โซนเล่น ATR SPACE, โซน Floor Play และโซนมุมทราย

“เราไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้
โดยที่เราไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ”
     ทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ กล่าวว่า เรื่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งซึ่ง สสส.เล็งเห็นคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่สื่อดิทัลกำลังล้ำหน้าอย่างเช่นทุกวันนี้ มีผลกระทบให้การเล่นของเด็กๆ ค่อยๆ หายไป

     “เราเห็นว่า ถ้าไม่มีใครสักกลุ่มทำหน้าที่เป็นกำแพงเหล็กให้กับเด็กๆ การเล่นอย่างอิสระ เล่นอย่างธรรมชาติ จะถูกลดคุณค่า ลดความสำคัญลง และสุดท้ายก็คงจะหายไป ทั้งที่การเล่นนั้นเป็นทุนของมนุษยชาติ เราไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ โดยที่เราไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ”
     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า พ่อแม่คือพลังสำคัญในการชวนลูกเล่น แต่พ่อแม่หลายคนอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องวิถีชีวิตที่ต้องทำงานนอกบ้าน ดั้งนั้น การมีองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีกให้กลุ่มพ่อแม่ จึงนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้ภารกิจปกป้องเด็กๆ ให้มีทุนชีวิตเรื่องการเล่นดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าสื่อดิจิทัลจะก้าวล้ำไปขนาดไหนก็ตามที การที่มีเครือข่ายลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ โดยมี สสส.เป็นผู้สนับสนุน เป็นการทำภารกิจที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามาคุกคามชีวิตเด็กๆ
     “งานแบบนี้ เหมือนปลูกเมล็ดพันธุ์อะไรสักอย่าง กว่าจะเห็นผล ก็ต่อเมื่อเด็กๆ เหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันอาจจะช้า หรือนาน แต่มันเห็นผลและมีคุณค่าแน่นอน” ทิชา ณ นคร กล่าวย้ำ

“ถ้าเด็กได้เล่น
โลกนี้จะมีสันติภาพ”
     หรือทุกวันนี้ เราลืมให้เด็กเล่น โลกของเด็กจึงไม่มีความสุข?
     คำถามต่อมาก็คือ เมื่อโลกของเด็กขาดความสุข
     แล้วโลกใบใหญ่ของมนุษยชาติ จะเป็นเช่นไร?
     “เข็มพร วิรุณราพันธ์” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงความสำคัญของการที่เด็กได้มีโอกาสเล่น ว่านอกจากเป็นการเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการของเด็กแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนโลกใบนี้ด้วย

     “มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเด็กได้เล่น โลกนี้จะมีสันติภาพ เพราะเด็กเป็นคนที่จะสร้างอนาคตของชาติ ถ้าเขาได้เล่น เขาจะรู้ว่าเขาจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร เวลาที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง เขาจะต้องทำอย่างไร จริงๆ แล้ว พ่อแม่ให้ภาพที่ผิดๆ กับลูกด้วย บางที ลูกทำผิด ก็ยังบอกว่าลูกถูก หรือพ่อแม่หลายคน ก็ยังไม่ได้บอกว่าเขาทำถูกหรือทำผิด แต่ถ้าเด็กได้เล่น การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ก็จะเป็นตัวสะท้อนว่า เราเล่นรุนแรงไปหรือเปล่า เราเห็นแก่ตัวไหม หรือว่าเรามีน้ำใจให้กับเพื่อนไหม คือการที่เด็กได้เล่น เขาจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของเขา และเขาจะรู้จักวิธีอยู่ร่วมกับคนอื่น
     “เพราะฉะนั้น นักคิดหลายประเทศพบว่า ถ้าเด็กได้เล่นมากขึ้น โลกนี้จะมีสันติภาพ แล้วก็มีงานวิจัยที่เขาไปศึกษาและพบว่า ความรุนแรง อาชญากรรม หรือปัญหาสังคมต่างๆ มันเริ่มขึ้นเพราะว่าเด็กมีโอกาสได้เล่นน้อยลง คำว่า ‘โอกาส’ มีความสำคัญมากๆ เลย เพราะตอนนี้สังคมได้พรากโอกาสในการเล่นของเด็กไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่สูง เด็กๆ ต้องเรียนหนัก ต้องไปติว พ่อแม่คาดหวังว่าลูกจะต้องเก่ง
     “ขณะเดียวกัน พื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน อย่างหมู่บ้านจัดสรร ก็ดูจะกลายเป็นพื้นที่ธุรกิจ พื้นที่ของผู้ใหญ่ไปหมดเลย เพราะฉะนั้น โอกาสของเด็กๆ ที่จะได้เล่น จึงน้อยลง หลายประเทศทั่วโลกจึงมีการเรียกร้องโอกาสที่จะช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงการเล่นอิสระด้วยตัวของเขาเอง ยิ่งไปกว่านั้น หลายประเทศยังรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ออกมาเล่นด้วย เพราะเขาเห็นว่า การเล่นคือส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ไม่เฉพาะเด็กๆ แต่รวมถึงทุกๆ วัย เพียงแต่การเล่นอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป”

     จากทัศนะของ “เข็มพร วิรุณราพันธ์” นั้นสอดคล้องกับความเห็นและข้อมูลของ “พญ.พรรณพิมล วิปุลากร” อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่กล่าวว่า พ่อแม่ยุคปัจจุบัน มักจะคาดหวังสูงในตัวลูก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งขาดหายไป นั่นก็คือ “การเล่น”
     “เด็กในยุคปัจจุบัน จะติดกับเครื่องมือใหม่ๆ อย่างอุปกรณ์ดิจิทัล ที่ด้านหนึ่งก็มีส่วนที่ดี แต่ก็ทำให้การเล่นของเด็กๆ ขาดหายไป และส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะพ่อแม่เองที่คาดหวังในตัวลูก อยากจะให้ลูกเก่ง เพราะฉะนั้น ก็จะให้ลูกไปเรียนพิเศษ ต้องไปเรียนดนตรี นู่นนี่นั่น แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือเรื่องการเล่น
     “ในขณะที่ปัจจุบัน อาจจะบอกว่า การเล่นคือความไร้สาระ ไม่มีประโยชน์เลย แต่ปรากฏว่า งานวิจัยใหม่ๆ รวมทั้งการศึกษาต่างๆ เขาบอกว่า การเล่นนี่แหละคือการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก การเล่นที่ดี คือการเล่นที่ไม่มีรูปแบบเลย การเล่นที่เป็นอิสระ จะทำให้เด็กมีจินตนาการ มีความสุข และเด็กก็จะมีพัฒนาการด้านสร้างสรรค์ต่างๆ”

3 สิ่งพึงสร้าง
เพื่อเปิดทางให้เด็กเล่น
     เพราะการเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
     และการเล่น มีผลลัพธ์มหัศจรรย์มากกว่าที่เราคิด
     การให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องคาดหวังอะไร
     เพียงแค่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ปล่อยให้เด็กได้โลดแล่น
     พัฒนาตัวเองในแบบเฉพาะของตัวเด็กเองอย่างอิสระ
     แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ 3 สิ่งนี้...

     “ศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี” กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า การเล่น มีประโยชน์มหาศาลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่การที่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น จำเป็นจะต้องมี 3 สิ่งที่เอื้ออำนวยต่อการเล่นสำหรับเด็กๆ
     “ปีที่แล้ว เราทำเรื่อง ‘เล่นสร้างชาติ’ สิ่งที่เราทำมีอยู่ 2-3 เรื่อง ซึ่งวันนี้เราก็จำลองมาให้ดูหมดแล้ว เรื่องที่ 1 คือการมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการเล่นสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือที่ต่างๆ ซึ่งวันนี้ก็ต้องขอขอบคุณทาง MBK มากๆ ที่ให้พื้นที่กว้างขวาง แม้ว่าตามความจริง เด็กสามารถเล่นได้ทุกที่ แม้จะเป็นที่ไม่กว้างนักก็ตาม ในบางประเทศเขามีการออกกฎหมายว่า ในระยะที่มีครัวเรือนหรือครอบครัวอาศัยอยู่ ระยะไม่เกินเท่านั้นเมตรเท่านี้เมตร จะต้องมีพื้นที่ให้เด็กเล่น เหมือนๆ เป็นสนามเด็กเล่น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
     “เรื่องที่สอง คือของที่เด็กจะเล่น อันนี้ไม่ยากเลยค่ะ เด็กเล่นได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะของที่มาจากธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งอะไร เขาก็สามารถเล่นได้อย่างมีความสุข ไม้ไผ่สองลำก็สนุกได้ ของที่ใช้เพื่อการเล่นสำหรับเด็ก ไม่ใช่ของราคาแพง แต่ในฐานะรัฐ รัฐอาจจะต้องลงทุนอุปกรณ์การเล่นบางอย่าง เพื่อให้เด็กๆ ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงของเล่นที่มีราคาและเรารู้ว่ามีประโยชน์
     “และเรื่องที่สามซึ่งสำคัญที่สุด คือคนที่จะเล่นกับเด็ก เด็กเล่นเป็นอิสระอยู่แล้ว เป็นชีวิตของเขา แต่การมีคนเล่นกับเด็กคือการเติมชีวิตให้กับเด็กที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ในปัจจุบัน เรื่องการเล่นในประเทศไทยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น
1.ขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นเพื่อสร้างสุขภาวะเด็ก ของครอบครัว และคนในสังคม
2. ขาดการออกแบบพื้นที่เล่นหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก
3.ขาดการจัดการดูแล เรื่องการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กอย่างมีส่วนร่วม
4.ขาดพลังการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก
5.ขาดกลไกผู้ดูแลการเล่น ที่จะเป็นพลัง และเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบาย
     คำถามก็คือ เราพร้อมหรือยังที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันให้เกิดการสร้างสิ่งเหล่านี้ เพื่อก่อให้เกิดการเล่นอย่างเป็นอิสระสำหรับเด็กๆ เพราะก็อย่างที่บอกว่าการเล่น มีความหมายและมีคุณค่าสำหรับเด็กๆ
     ไม่เพียงความสนุก ไม่ใช่แค่ความสุข แต่การเล่นคือสิ่งมหัศจรรย์ที่เสริมสร้างพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็กได้ และเหนืออื่นใดคือ มันมีพลังถึงขั้นช่วยสร้างสันติภาพให้กับโลกใบนี้ได้...



กำลังโหลดความคิดเห็น