xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" ปลูกกัญชา ม.แม่โจ้ ดันผลิตยา 1 ล้านขวด เล็งพัฒนาปลูกกลางแจ้ง ให้ความรู้ปลูกบ้านละ 6 ต้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"อนุทิน" ลงปลูกกัญชาต้นแรก ม.แม่โจ้ แบบเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ นำร่อง 85 ต้น ก่อนขยายให้ครบ 12,000 ต้น คาดผลิตยาได้ 1 ล้านขวดได้ในปีหน้า หวังม.แม่โจ้พัฒนาปลูกกลางแจ้ง ส่งเสริมคนไทยปลูกในบ้านได้ 6 ต้น ยันไม่ได้หาเสียงพล่อยๆ ย้ำต้องให้แพทย์สั่งใช้เท่านั้น ห้ามหาของเถื่อนเองมีอันตราย ลั่นหากกัญชารักษาไม่ได้ผลจริง พร้อมเลิกนโยบาย แต่เบื้องต้นช่วยผู้ป่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น

วันนี้ (21 ก.ย.) ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  นายอนุทิน ขาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานปลูกกล้ากัญชาต้นแรก ในโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา โดยมีผู้บริหาร สธ. ม.แม่โจ้ และ อภ. ร่วมกันปลูกกล้ากัญชาอีก 84 ตัน รวมเป็น 85 ต้น ในโอกาส ม.แม่โจ้ อายุครบ 85 ปีด้วย

นายอนุทิน กล่าวว่า โครงการปลูกกัญชาในครั้งนี้ กรมการแพทย์เป็นผู้มอบเมล็ดพันธุ์ 12,000 เมล็ด ม.แม่โจ้เป็นผู้ปลูก ซึ่งเป็นการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ไม่มีสารเคมี สารปรุงแต่งใดๆ ซึ่งดินที่ใช้ปลูก ม.แม่โจ้ก็ได้ทำการหมักเอาไว้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว จึงมั่นใจว่าเอาไปใช้ทำผลิตยาได้  โดยคาดว่า ก.พ. 2563 จะสามารถส่งวัตถุดิบกัญชาดอกแห้ง จำนวน 2,400 กิโลกรัม โดยส่งให้ อภ.สกัดเป็นสารสกัดกัญชาได้ 1 ล้านโดส ซึ่งเบื้องต้นน่าจะช่วยผู้ป่วยได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันคน ซึ่งการปลูกในครั้งนี้ใช้ชื่อทางเทคนิค "อิสระ01" เพื่อเป็นเกียรติแก่ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผอ.รพ.มะเร็งอุดรธานี ก็สอดคล้องกับนโยบายกัญชาเสรี ซึ่งความหมายเหมือนกัน ต่อไปอาจเปลี่ยนจากกัญชาเสรีเป็นกัญชาอิสระก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เป็นการปลูกในโรงเรือนระบบปิด แต่ในอนาคตจะพัฒนาการปลูกกลางแจ้งด้วย ซึ่งจะจุดเริ่มต้นว่า อีกหน่อยปลูกบ้านละ 6 ต้นจะมาอย่างไร คือ ม.แม่โจ้จะเป็นผู้กระจายความรู้ความเข้าใจ เผยแพร่เทคนิคการปลูกกัญชาอย่างไรให้ปลอดภัย ให้ผลผลิตที่ดี สารสกัดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

"ที่ถามว่า 6 ต้นอยู่ไหน ขี้โม้หรือเปล่า หาเสียงพล่อยๆ หรือเปล่า โกหกประชาชนหรือเปล่า ที่ผมไม่เคยตอบอะไรมาเลยก็รอวันนี้ รอมาให้เห้น สิ่งที่ผมตั้งใจทำมาตลอดเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการเมือง การหาเสียง แต่เป็นเรื่องที่ต้องการทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน วงการแพทย์ ใช้กัญชาอย่างอิสระเสรีทางการแพทย์ จากนี้ไปเมื่อมีกรพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกัน มีผลลัพธ์ของการใช้สารสกัดจากกัญชาอย่างเป็นรูปธรรม เห็นว่ามีคุณสมบัติในการรักษาอย่างไร  การปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ม.แม่โจ้ เป็นผู้นำในการสร้างเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะกับคนไทย และอีกหลายสถาบันที่ทำอยู่ ซึ่งจะไปเยี่ยมชมและหาวิธีบูรณาการความรู้เหล่านี้มาเพื่อให้สายพันธุ์กัฯชาของเรา เป็นยารักษาโรค เป็นยาในบ้าน ทั้งแผนปัจจุบัน แผนไทย พื้นบ้าน สำคัญสุดคือหวังว่าวันหนึ่งกัญชาและกัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกษตรกรชาวไทยมีทางเลือกอีกหนึ่งทางในการเสริมสร้างหารายได้ และเป้นยาสมุนไพรหลังบ้านพี่น้องคนไทยทุกคน เจ็บป่วยสามารถใช้สารสกัดจากกัญชารักษาโรคได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายเดินทางไปหาแพทย์ ซื้อยา รักษานอกบ้านลดลง ทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวดีขึ้น สังคมน่าอยู่มากขึ้น" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการจ่ายยากัญชาในผู้ป่วยตอนนี้ มีการส่งสารสกัดกัญชาทั้งแบบของอภ.และของแผนไทย สูตรอ.เดชา ศิริภัทร ให้แก่โรงพยาบาลที่มีการร้องขอ แต่ย้ำว่าผู้ป่วยอย่าสั่งยาเอง อย่าไปบอกแพทย์ว่าจะเอากัญชาเพราะว่าแพทย์ต้องเป็นคนสั่งยาให้ โดยเฉพาะสารสกัดกัญชาต้องถูกสั่งให้ไปใช้โดยแพทย์ ไม่ใช่ว่าจะไปบอกว่าจะรักษาด้วยกัญชาได้เองโดยแพทย์ไม่เห็นชอบ เป็นเสรีกัญชาทางการแพทย์ ไม่ใช่เอาไปใช้ตามใจชอบ ต้องมีการควบคุม เพราะสารสกัดกัญชามีทั้งผลดีผลเสีย ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทไวมาก ต้องมีการควบคุมให้ดี ใช้ในส่วนที่ดีก็เป็นประโยชน์กับคนป่วย

เมื่อถามว่ากังวลเรื่องผลผลิตเกินหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าที่ส่งไป 10,000 ขวด มีการสั่งใช้แค่ 80 ขวด  นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ห่วงเรื่องโอเวอร์ซัพพลาย ส่วนเรื่องจำนวนการใช้ก็ได้รับรายงานมา แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ใช้แค่ 80 ขวด มีการใช้ตามปกติ และ อภ.ก็ผลิตออกมาเรื่อยๆ โครงการนี้ถ้าสำเร็จก็จะได้อีก 2 ตันครึ่งหรือล้านขวด

"แม้จะเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ก็ผลิตอย่างมีมาตรฐาน มีแพทย์ควบคุมการใช้ ใช้อย่างถูกวิธีก็จะไม่มีผลเสียใดๆ สำคัญคือยาไปสั่งซื้อจากออนไลน์เพราะไม่รู้ที่มาที่ไป ตอนนี้มีแหล่งที่ผลิตสารสกัดกัญชาของ อภ.อยู่แล้ว การรักษาในรพ.สธ.ได้รับยามีคุณภาพมาตรฐาน ส่วนที่บางคนอยากใช้ แต่แพทย์ไม่สั่งจ่าย  หากสั่งยาเองได้ ก็ไม่ต้องหาหมอ เราไปหาหมอก็เพื่อให้หมอวินิจฉัยโรครักษาและสั่งยา อย่ามองว่าคือกัญชา อย่ามองความอยากของคนที่อยากได้กัญชา ถ้าหมอไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้ หมอก็ไม่สั่ง ซึ่งหากอยากใช้แต่หมอไม่สั่งก็กลายเป็นไปหาของเถื่อน ก็อันตรายต่อสุขภาพ ส่วนที่หมอไม่สั่งใช้ เพราะอาจวินิจฉัยว่าจ่ายยาปกติตรงกับโรคแล้วหาย ได้ผลและตรงกับโรคก็สั่งยาปกติ กัญชาเป็นสมุนไพรต้องค่อยๆ ใส่เข้าไป" นายอนุทินกล่าวและว่า ตนไม่มีไทม์ไลน์เรื่องของปลูกกัญชา 6 ต้น จนกว่าทุกอย่างจะปลอดภัย ซึ่งหากพบว่าไม่ปลอดภัยก็พร้อมจะยกเลิกนโยบาย ไม่มีโกหกประชาชน

เมื่อถามถึงผลลัพธ์การใช้ยากัญชาหลังเปิดคลินิกกัญชา  นพ.อิสระ กล่าวว่า เท่าที่ดูพบว่า ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ความยืนยาวชีวิต ก็ให้ผลดี ส่วนผลของแต่ละโรคนั้นต้องเก็บข้อมูลต่อไป ซึ่งที่ทำ 1 ล้านขวดในครั้งนี้ก็เพื่อเก็บข้อมูลว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่ หากได้ผล ได้ผลกับอะไร หากไม่ได้ผลเป็นเรื่องมโนก็ควรจบได้แล้ว ถึงต้องพิสูจน์เรื่องนี้ ซึ่งแผนการใช้ก็มีการเตรียมไว้กับทางกรมการแพทย์แล้ว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดออนไลน์ให้คนไข้ลงทะเบียน ซึ่งโรคมะเร็งที่อยากพิสูจน์ยากัญชา คือ มะเร็งระยะสุดท้าย และคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาคีโม ซึ่งให้แล้วในผู้ป่วย 4-5 ราย คุณภาพชีวิตดีขึ้น กินข้าวได้นอนหลับดีขึ้น แต่กับตัวโรคมะเร็งยังไม่มีผล ส่วนการทดสอบยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์ผลจะออกมาเบื้องต้น สำหรับในระบบประสาทมีคนไข้ลงทะเบียนหลายส่วน เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ปวดปลอกประสาท เริ่มได้ให้ยากัญชา ซีบีดี และหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งจากการให้ยาแก่เด็กชักที่รักษาในสถาบันประสาทและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) เท่าที่รับรายงานเบื้องต้น พบว่า ครึ่งหนึ่งได้ผล ครึ่งหนึ่งไม่ได้ผล ซึ่งการผลิต 1ล้านขวดจะนำมาต่อยอดกับเรื่องนี้ และจะนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ตามทางการแพทย์ ใน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีประโยชน์ มีหลักฐานยืนยันชัดเจน มี 4 โรค คือ  โรคลมชักในเด็ก แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด บรรเทาอาการปวดที่ไม่สามารถใช้ยาแก้ปวดอื่นได้ และปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ 2.กลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์

ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ กล่าวถึงความพร้อมการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์. 12,000 ต้นที่โรงเรือนของมหาวิทยาลัยว่า กัญชานี้เป็นกัญชาสายพันธุ์ไทยอิสระ 01 ที่คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปลอดสารปนเปื้อน และไม่ติดสิทธิบัตร และเตรียมขอจดสิทธิ์กับกรมวิชาการเกษตรและจะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือน 3,040 ตรม. ซึ่งจะเป็นกัญชารุ่นแรก จากนั้นจะพัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิจัย ได้อนุญาตอย่างถูกต้อตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ กัญชาพันธุ์อิสระ 01 จะสามารถจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 4 เดือน หรือประมาณ กุมภาพันธ์ 2563 โดยกัญชา 1 ต้นจะได้ดอกสด 200 กรัม (ก.) 10 กิโลกรัมจะได้ 1 กิโลกรัม (กก.) รวมดอกสด 24,000 กก. จากนั้นต้องอบแห้ง จะได้ 2,400 กก. ในอนาคตเตรียมปลูกขยายไปนอกโรงเรือน และพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงมากขึ้นเพื่อในอนาคตชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดได้ สำหรับการปลูกในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้เตรียมพร้อมสำหรับระดับอุตาสาหกรรมเพื่อส่งมอบกัญชา 1 ล้านขวด ขนาด 5 ซีซีให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนความห่วงกังวล เป็นเรื่องของสภาพอากาศ เพราะการปลูกในโรงเรือน ได้รับความชื้นสูง จะมีศัตรูพืชสูง ต้องควบคุมแสงให้ดี

“สำหรับกัญชาพันธุ์ไทยจำเป็นต้องศึกษาวิจัยมาก เพราะไทยขาดองค์ความรู้ 50 ปีที่เป็นยาเสพติด เบื้องต้น กัญชาเป็นพืชต้องการแดด และความชื้นเหมาะสม แต่กฎหมายกำหนดให้ปลูกในโรงเรือน ทำให้ต้องทำให้กัญชามีความเครียด เกิดจากให้ความร้อน และความชื้นต่ำ เมื่อเจริญเติบโตระยะหนึ่งเพื่อให้ได้สารสำคัญที่ต้องการและจะต้องมีการตรวจสอบถึงระดับดีเอ็นเออีกครั้ง ซึ่งสารสำคัญขณะนี้มีกัญชาถึง 6 สายพันธุ์ที่ต้องพัฒนาต้องการ ทั้งทีเอชซีและซีบีดีในขนาดที่แตกต่างกันและต้องได้ตามมาตรฐาน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเตรียมพัฒนาสายพันธุ์ให้เกิดพันธุ์แม่โจ้ 01 เพื่อให้เป็นสายพันธุ์ไทย” ศ.ดร.อานัฐ กล่าว
















กำลังโหลดความคิดเห็น