สพฉ.แจงป่วยฉุกเฉินวิกฤตใน รพ.เอกชน ใช้สิทธิยูเซปไม่ได้จริง เหตุไม่เข้าเงื่อนไข ต้องเกิดนอก รพ.และเข้ารพ.ที่ใกล้ที่สุด ส่วนจะขยายสิทธิ เกณฑ์ และเงื่อนไขหรือไม่ ต้องหารือเพิ่มเติม ทั้งเรื่องงบประมาณ รพ.เอกชนเห็นด้วยหรือไม่ เผยดำเนินการ 2 ปี มีคนใช้สิทธิ 3 หมื่นคน
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีประชาชนมีความเห็นถึงสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ รักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก หรือสิทธิยูเซป ต้องป่วยนอกโรงพยาบาลเท่านั้นถึงใช้สิทธิได้ ดังนั้น ห้ามป่วยจะเป็นจะตายใน รพ.เด็ดขาด โดยเฉพาะ รพ.เอกชน เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ว่า หากจะกล่าวเช่นนั้นก็ไม่ผิด เพราะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การใช้สิทธิยูเซปจะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.เกณฑ์ และ 2.เงื่อนไข เพราะฉุกเฉินวิกฤตเกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่ว่าข้างนอกโรงพยาบาล หรือเข้ามาโรงพยาบาลแล้วอาการแย่ลงจนวิกฤต ตรงนี้คือเกณฑ์ที่ หรือก็คือลักษณะอาการฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งมีทั้งหมดสติ ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ มีอาการทางสมองหรือหัวใจเฉียบพลันที่ต้องรักษาทันที ส่วนเงื่อนไขการจ่ายเงินกองทุน คือ 1.เหตุเกิดนอกโรงพยาบาล 2.เข้าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็น รพ.รัฐหรือเอกชน ซึ่งรพ.รัฐไม่เสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ส่วน รพ.เอกชน ก็ใช้สิทธิยูเซปซึ่งรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้
"อย่างไรก็ตาม หากเข้าโรงพยาบาลไปแล้ว เช่น เข้ารพ.เอกชน แล้วอาการไปแย่ลงจนแย่ลง เกณฑ์คือเป็นวิกฤตจริงๆ แต่ไม่เข้าเงื่อนไข เพราะต้องเกิดนอกโรงพยาบาล และไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีการขยายผล เช่น ขยายไปในคนไข้ที่ฉุกเฉินเร่งด่วน หรืออาจจะขยายเงื่อนไขรวมไปถึงฉุกเฉินวิกฤตที่เกิดในโรงพยาบาลด้วยหรือไม่ คงต้องทำความตกลงกันอีกทีว่ามีเงินหรือไม่ รัฐบาลมีกองทุนจ่ายหรือไม่ รพ.เอกชนยอมรับหรือไม่ ประชาชนอาจจะได้ประโยชน์อยู่แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายๆ อย่างในการพิจารณา" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการดำเนินการสิทธิยูเซปมาเป็นเวลา 2 ปี มีคนเข้าร่วมโครงการที่ประเมินผ่านระบบประมาณ 3 แสนคน แต่ว่ามีคนได้ใช้สิทะประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเยอะ และจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป รัฐบาลนี้ก็จะเดินหน้าต่อ ส่วนการจะขยายสิทธิหรือว่าจะปรับปรุงรายละเอียดสิทธิประโยชน์คงต้องหารืออีกทีในลำดับต่อไป โดยย้ำว่าสิทธิยูเซปเป็นการขยายเพิ่มจากสิทธิการรักษาเดิมที่คนไทยทุกคนมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ ซึ่งเดิมเข้ารพ.รัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เว้นแต่ใช้สิทธิเกิน เช่น ห้องพิเศษ ส่วนเข้ารพ.เอกชนต้องจ่ายเงินเองทุกกรณี ก็เป็นการมาเสริมในจุดนี้ หากฉุกเฉินวิกฤตกองทุนก็จะตามจ่าย