xs
xsm
sm
md
lg

ThaiHealth Youth Solutions “พลัง” ของเด็กชายขอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อ 13 ก.ย. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ มีการจัดงาน ThaiHealth Youth Solutions เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 ก.ย. ที่กำลังจะถึง โดยในงานมีเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “ฝันใหญ่…ไปด้วยกัน” ตอน “พลังของเด็กชายขอบ” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มเยาวชนชายขอบ 6 กลุ่ม มาเป็นกระบอกเสียงเพื่อผลักดันให้ปัญหาของพวกเขาได้รับการแก้ไขในอนาคต

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2017 พบว่าประเทศไทยมีประชากรอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ได้อยู่ในระบบแรงงาน ราวๆ 1 ล้าน 3 แสนคน และในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงเกือบ 8 แสนคน ขณะที่องค์การ ยูนิเซฟระบุว่า กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี กว่า 51.06% เป็นวัยที่หลุดจากระบบการศึกษา และเป็นกลุ่มที่ประสบกับความยากจนหลายมิติในระดับที่รุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่น ซึ่งพบในเขตชนบทมากกว่าในเขตเมืองหลวง และพบในภาคอีสานมากกว่าภาคอื่นๆ เมื่อจัดระดับความรุนแรงของค่าความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กก็พบว่า 5 จังหวัดแรกที่มีปัญหาสูงสุดคือ ปัตตานี, กาฬสินธุ์, นครพนม, ตาก และ นราธิวาส

น.ส.ณัฐยากล่าวต่อว่าปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับเยาวชนกลุ่มนี้เนื่องจากเมื่อความยากจนมาบวกกับการเป็นเด็กชายขอบยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยอมรับบางครั้งถูกกีดกันออกจากสังคมเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นจากความขาดแคลนบ่อยครั้งที่สิทธิพื้นฐานถูกละเลยการขาดโอกาสทางการศึกษารวมไปถึงขาดทักษะที่ดีซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เพียงส่งผลต่อตัวบุคคลแต่ส่งผลถึงระดับชุมชนและระดับสังคมต่อไป

และสำหรับกิจกรรมThaiHealth Youth Solutions ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างพื้นที่สื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้พูดคุยสะท้อนไปยังสาธารณะทั้งในประเด็นสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ยังเป็นปัญหาและต้องการให้สังคมมีส่วนร่วมช่วยเหลือดูแลรวมถึงนำเสนอบทเรียนความสำเร็จจากการลงมือทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนที่พวกเขาลงมือทำเองโดยปีนี้มีจุดเน้นในประเด็น“พลังของเด็กชายขอบ” ซึ่งสสส. เล็งเห็นว่าเยาวชนกลุ่มเปราะบางและอยู่ชายขอบของสังคมเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวและมีความเข้มแข็งอยู่ภายใน

โดยเลือกจากกลุ่มเยาวชนชายขอบที่มีการรวมกลุ่มดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 6 กลุ่ม ได้แก่ สหทัยมูลนิธิจากนครศรีธรรมราช, สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย, กลุ่มพลังโจ๋จากศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่, กลุ่มเยาวชนจากบ้านพิราบขาวชายแดนใต้ และ กลุ่มเยาวชนรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีนจากเชียงใหม่ รวมทั้งเชิญสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยมาร่วมเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกับเพื่อนๆ กลุ่มชายขอบเหล่านี้ในการผลักดันให้เกิดนโยบายใหม่ๆ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนชายขอบในอนาคต รวมทั้งหวังว่าการเปิดพื้นที่ในครั้งนี้จะเป็นการส่องแสงไปยังเสียงที่สังคมเคยมองข้าม และหวังว่าเสียงเล็กๆ เหล่านี้จะได้รับความเข้าใจจากสังคม และได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมไปถึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงความสำคัญและช่วยกันสนับสนุนเด็กชายขอบรุ่นใหม่ให้กลายเป็นพลังของสังคม

ต่อมาในเวทีเสวนา ภายใต้หัวข้อ “ฝันใหญ่…ไปด้วยกัน” ตอน “พลังของเด็กชายขอบ” ได้ตัวแทนเยาวชนจาก 6 กลุ่มมาแลกเปลี่ยนปัญหา และบอกเล่าความฝันของพวกเขาเหล่านั้นที่หวังว่าจะได้รับความร่วมมือเพื่อแก้ไขต่อไป โดยตัวแทนกลุ่มแรกมาจากศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ (พลังโจ๋) ซึ่งเป็นกลุ่มของเยาวชนนอกระบบที่เคยอยู่ในกลุ่มเด็กแว้นหรือเด็กแก๊ง เล่าถึงปัญหาที่พบไว้ว่า ในพื้นที่จังหวัดแพร่ มีการรวมกลุ่มของเยาวชนในลักษณะเป็น “แก๊ง” ส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษา และบางส่วนยังอยู่ในระบบการศึกษา แต่มีแนวโน้มที่อาจจะหลุดออกจากระบบ ซึ่งกลุ่มเยาวชนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยและมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน ติดเกม ไปจนถึงการใช้ความรุนแรง

ด้านตัวแทนจากกลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำงานด้านอนามัยเจริญพันธ์ และ เอชไอวี พบว่า เด็กจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีและเอดส์ บางคนติดเชื้อตั้งแต่เกิด และบางคนกลายเป็นเด็กกำพร้าเพราะพ่อแม่เสียชีวิต ขาดผู้อุปการะจนเกิดความเปราะบางในใจและในทุกๆ ด้าน ทำให้พวกเขารวมกลุ่มเพื่อเติมเต็มสิ่งที่จางหายไปให้แก่กัน โดยปัญหาหลักที่พบคือ การตีตราตัวเอง และการถูกตีตราจากสังคมในเรื่องของเอชไอวี จากการที่สังคมส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงลบต่อเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของเด็กเหล่านั้น รวมไปถึงการตกหล่นจากระบบการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ต่อมาเป็นตัวแทนจากสหทัยมูลนิธิ ภาคใต้ กลุ่มของเยาวชนที่ผ่านประสบการณ์การเป็นพ่อแม่วัยรุ่นและอยู่ในภาวะครอบครัวยากจน โดยความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มนี้ คือ การเล็งเห็นปัญหาจากการมีบุตรโดยไม่พร้อม กลายเป็นปัญหาพ่อแม่วัยรุ่น ขาดทักษะในการสร้างครอบครัว การดูแลลูก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ที่เกิดมา และเป็นภาระจากรุ่นสู่รุ่นทำให้ก้าวไม่พ้นความยากลำบาก ซึ่งเด็กที่เกิดมาในครอบครัวยากจนย่อมเติบโตมาโดยขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และย่อมส่งผลต่อทักษะการใช้ชีวิต การเห็นคุณค่าในตัวเอง ขาดทักษะการเป็นผู้นำ และค้นหาความฝันไม่เจอเพียงเพราะชีวิตนั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัด

และตัวแทนจากกลุ่มพิราบขาว เครือข่ายเยาวชนชายแดนใต้ กลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งอยู่ในภาวะครอบครัวยากจน โดยเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความรุนแรงยืดเยื้อนานนับสิบปี ซึ่งปัญหาที่พบคือ เด็กและเยาวชนจำนวนมากหลุดระบบการศึกษาภาคบังคับ โดยเฉลี่ยแล้วพบว่า เด็กจะเรียนจบแค่ประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มมีแนวโน้มการขาดเรียนก่อน โดยสาเหตุหลักคือการขาดแรงจูงใจในการเรียน ส่วนภาวะความยากจนของครอบครัวก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา แต่อยากให้ลูกหลานออกมารับจ้างทำงานช่วยครอบครัวแทน

ด้านตัวแทนจากสมาคมเด็ก และเยาวชนเพื่อสันติภาพแดนใต้ (ลูกเหรียง) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดเสาหลักของครอบครัว กลายเป็นเด็กที่กำพร้าพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่ ซึ่งหลายคนเติบโตโดยขาดความอบอุ่นจากครอบครัว รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่กลุ่มลูกเหรียงพบ นั่นก็คือ ปัญหาด้านการศึกษาที่เยาวชนจำนวนมากขาดโอกาสในการเข้าถึง นอกจากนั้นยังพบปัญหาเกี่ยวกับ “คุณแม่วัยใส” สืบเนื่องจากการคบหาระหว่างเยาวชนต่างเพศ ผนวกกับหลักการที่เคร่งของศาสนา ส่งผลให้มีการแต่งงานโดยไม่พร้อมเป็นจำนวนมาก และนำมาซึ่งการหย่าร้างในภายหลัง
และตัวแทนจากมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย (เยาวชนคนมือดี) เป็นเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งเยาวชนที่เคยต้องโทษในระบบยุติธรรมและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ(LGBT) โดยปัญหาหลักที่พบคือ ทัศนคติของผู้คนที่มีต่อเยาวชนชายขอบ ตลอดจนการเข้าไม่ถึงโอกาสในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเอง โดยตัวแทนเยาวชน กล่าวต่อว่า การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเวทีที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงออกถึงสิ่งที่อยากพูด แต่ไม่เคยมีใครรับฟัง ซึ่งตนเองเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคยพลาดต้องคดี แต่เมื่อออกมาอยู่ในสังคมที่บอกว่าให้โอกาส ตนเองกลับไม่เคยได้รับโอกาส ทุกครั้งสายตาของคนในชุมชนหรือในสังคมที่มองมาล้วนเป็นสายตาที่ตีตรา จริงๆ ตนเองแค่อยากได้ที่ยืนในสังคม ไม่เหยียดหยาม ยอมรับและให้โอกาสที่แท้จริง ทั้งการได้กลับเข้าไปในระบบการศึกษา หรือการทำงาน เพื่อให้สามารถที่จะพึ่งพิงดูแลตนเองและช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันได้

ส่วนตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ได้ฟังเพื่อนๆ แต่ละกลุ่มแล้ว ตนหวังว่าในอนาคตจะมีการร่วมมือเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาที่ได้รับฟังในวันนี้ และมีเวทีแลกเปลี่ยนกันในครั้งต่อๆ ไป ทั้งนี้ในฐานะตัวแทนก็จะเก็บรายละเอียดปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป

โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาวะเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นในปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงคือกรณีปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10–19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึงร้อยละ 44 หรือมีประมาณ 3 ล้านกว่าคนจากวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน และมีอัตราป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 18 นอกจากนี้ประเด็นการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน และการติดสารเสพติด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับต้นๆ ของการสูญเสียปีสุขภาวะของวัยรุ่นไทยอีกด้วย

โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนชายขอบ มีภาวะเปราะบางทั้งทางสถานะทางสังคม รวมไปถึงเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะได้มากกว่าเด็กและเยาวชนในครอบครัวที่มีความพร้อมอยู่ในสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดี โดย สสส. ได้กำหนดจุดเน้นการทำงานในกลุ่มเด็กเยาวชนที่เผชิญกับภาวะเปราะบางของเด็กชายขอบให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชน และการมุ่งจัดการกับปัจจัยที่มีผลต่อการมีสุขภาวะของเยาวชน สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจาก ThaiHealth Youth Solutions ครั้งที่ 1 คือการที่เยาวชนได้ลงมือทำ จนเกิดแรงบันดาลใจและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น