xs
xsm
sm
md
lg

"ชิคุนกุนยา" ไม่อันตรายถึงตายแบบไข้เลือดออก อาการปวดข้อไม่ได้เกิดทุกคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คร. ชี้ "โรคชิคุนกุนยา" ไม่อันตรายถึงตายแบบไข้เลือดออก อาการปวดข้อไม่ได้เกิดในทุกคน หากไม่ปวดข้อมากยังทำงานได้ตามปกติ ระบุหากป่วยแสดงว่ารอบที่พักหรือทำงาน มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

วันนี้ (17 ก.ย.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงโรคชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลาย ว่า โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่มียุงลายเป็นพาหะ เดิมพบผู้ป่วยมากในพื้นที่ภาคใต้ แต่ปัจจุบันสามารถพบผู้ป่วยได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ระยะฟักตัวหลังรับเชื้อใกล้เคียงกับโรคไข้เลือดออก คือประมาณ 1 สัปดาห์ สถานการณ์โรคในปัจจุบันก็พบมากขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต เหมือนกับไข้เลือดออก โดยอาการ คือ มีผื่นแดง ปวดตามข้อมาก บางครั้งปวดมากจนไม่อยากจะขยับตัวทำอะไร ซึ่งอาการปวดข้อนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะพบอาการปวดในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก ดังนั้นในคนที่ไม่มีอาการป่วยก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา หากไม่มีอาการปวดข้อมากๆ ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ และเราไม่ได้ห้ามไปยังแหล่งชุมชน หรือที่มีคนชุมนุมอยู่มาก เหมือนกับโรคติดต่อทางเดินหายใจ แต่ประเด็นความเสี่ยง คือ หากยุงลายไปกัดคนที่มีเชื้อชิคุนกุนยาอยู่ แล้วยุงตัวนั้นไปกัดคนอื่นๆ อีก ก็จะทำให้คนอื่นติดเชื้อไปด้วย ประการสำคัญ คือ เมื่อไรก็ตามที่เกิดเคสพวกนี้แสดงถึงการมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบๆ ที่พัก หรือสถานที่ทำงาน ก็จำเป็นต้องตรวจสอบหาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพวกนี้ เพราะยุงลายสามารถก่อโรคได้ถึง 3 โรค คือชิคุนกุนยา ไข้เลือดออก และไวรัสซิกา จึงจำเป็นต้องกำจัดให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นมีโอกาสพบผู้ป่วยรายต่อๆ ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น