xs
xsm
sm
md
lg

ภท.ชงแก้กฎหมาย กยศ. ยกเลิกค้ำประกัน ใช้คืนแค่เงินต้น ปลอดดอกเบี้ย ให้ฟรีกลุ่มเรียนดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภท.จัดประชุมฟังความเห็นแก้หนี้ กยศ. เผยเสนอร่างกฎหมายเสนอยกเลิกระบบค้ำประกัน แบ่งกลุ่มเรียนดีเกียรตินิยมอันดับ 1 หรือเรียน 10 สาขาขาดแคลนให้ทุนเปล่า ส่วนกลุ่มอื่นคืนแค่เงินต้น ปลอดดอกเบี้ย หรือทำงานใช้คืนแทนได้ หวังช่วยกลุ่มเป็นหนี้ ถูกฟ้องบังคับคดี คิดแค่เงินต้นคืนเท่านั้น พ่วงปลดจากเครดิตบูโร

วันนี้ (14 ก.ย.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน กฎหมายแก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย โดย ดร.กมล รอดคล้าย ประธานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวในเวทีว่า ที่ผ่านมาพรรคได้รับฟังความเห็นจากนักเรียน นักศึกษา ประชาชน พบว่า ลูกหนี้ต้องการให้ลดดอกเบี้ย ลดหนี้ลง โดยปลดระยะเวลาการชำระให้ยาวนานขึ้น หรือกรณีมีเบี้ยปรับให้มีน้อยที่สุด หรือปลอดเบี้ยปรับ รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะผู้กู้สามารถค้ำประกันตนเองได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมอง 3 รูปแบบ คือ 1.ให้ทุน คือ ให้ทุนเรียนดี 2.ให้ยืมคือ ให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งบางสถาบันการศึกษาใช้หลักทำงานคืนแทน ยกเว้นผิดสัญญาจะมีค่าปรับ และ 3.ให้กู้ หรือ ให้กู้ยืม ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ย เหมือนการทำธุรกิจ

ดร.กมล กล่าวว่า ท้ายที่สุดพรรคจะนำเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งจะนำความคิดเห็นในที่ประชุมแห่งนี้ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งสาระสำคัญหลักๆ ของกฎหมายที่จะเสนอ คือ 1.กำหนดให้กรรมการกองทุนมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการแปลงเงินกู้ เป็นประโยชน์ต่อเด็ก 2.ยกเลิกบทบัญญัติค้ำประกัน ยกเลิกผู้ค้ำ  3.ผู้กู้ให้ทำงานแทนได้ วิธีการทำงานคล้ายผู้ที่ได้ทุนแล้วกลับมาทำงานในหน่วยงานนั้นๆ แทน   4.ให้ปลอดดอกเบี้ย คือ คืนเฉพาะเงินต้นคืนเท่านั้น นับตั้งแต่เริ่มต้นประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่วนผู้ที่กู้ไปแล้วก็ให้เริ่มนับตั้งแต่ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่วนที่ชำระไปแล้วถือว่าให้รัฐ  5.ผู้ที่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ไม่มีการเก็บทั้งต้นและดอกเบี้ย เพราะถือว่าเป็นคนมีคุณภาพสูง  และ 6.ผู้ที่เรียนจบสาขาขาดแคลน 10 สาขา คนเหล่านี้เป็นการให้ทุนการศึกษาไป โดยไม่ต้องมาใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย 

"เราต้องแบ่งเกรดผู้กู้ กยศ.ออกเป็น กลุ่มเอ เรียนดีเรียนเก่ง ยกให้ไม่คิดเงินต้นและดอกเบี้ย กลุ่มบี กลาง ก็คิดเฉพาะเงินต้น เกรดซี ลำบาก ถูกฟ้อง บังคับคดี ก็ไปปรับตัวกฎหมาย คิดแค่เงินต้นเหมือนกลุ่มบี และปลดจากเครดิตบูโร พรรคจึงเสนอเป็นร่างพ.ร.บ. เป็นกระบวนการคิดของคนทั้งระบบ นำเสนอระบบที่เหมาะสม เข้าสู่รัฐสภา” ดร.กมล กล่าวและว่า จำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการสำหรับผู้ถูกบังคับคดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีถูกยึดทรัพย์ อาจต้องตั้งคณะทำงานเข้ามาจัดการปัญหานี้ได้ ถ้าเป็นไปได้ อาจมีการตั้งบรรษัทเพื่อบริหารจัดการหนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี และท้ายที่สุด หากจำเป็นต้องถึงกับการนิรโทษกรรมการชำระหนี้ ก็จะต้องทำ วันนี้เราเสนอกฎหมายไปแล้ว อีก 1-2 เดือน จะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อแก้ไขและติดตามกฎหมายดังกล่าว

ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กองทุนกยศ. เป็นกองทุนที่สร้างโอกาสให้เด็กไทย โดยปัจจุบันผู้ร่วมกู้ กยศ.ประมาณ 5.6 ล้านคน เริ่มชำระหนี้แล้วประมาณ 3 ล้านคน ถูกดำเนินคดีไปไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมา กยศ.จะให้เวลาสำหรับการพักชำระหนี้ ต้องเข้าใจว่า ผู้ที่กู้ยืมกยศ.ก็เพราะสาเหตุความยากจน และสภาพแวดล้อมของผู้กู้เหล่านี้ ไม่ได้มีหนี้เฉพาะหนี้ กยศ.เท่านั้น นอกจากนี้หลังจบการศึกษาแล้วอาจจะไม่ได้งานทำ ตกงาน หรือรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้น การให้ทุน ให้ยืม ให้กู้ยืม ตามที่เรามองว่า น่าจะนำไปแก้ปัญหาทุกข์ของเด็กไทยได้ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกบังคับคดี อยู่ระหว่างความทุกข์ เราควรหาแนวทางการแก้ปัญหาส่วนนี้โดยเร็ว พรรคมีนโยบายในการแก้ปัญหา โดยต้องการปลดผู้ค้ำประกัน ปรับโครงสร้างหนี้ การทำงานชดเชยให้กับภาครัฐเพื่อปลดหนี้ และการขยายเวลาผ่อนผันเงินต้น

ดร.สฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การนำเสนอเรื่องการปลดผู้ค้ำประกัน ก็เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินกู้อย่างเสมอภาค ให้มีการศึกษาที่ดี มีแรงจูงใจ ลดภาระการกู้ยืม ส่วนการนำเสนอร่างพ.ร.บ.นี้ ก็ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและชัดเจน โดยพรรคได้นำเสนอตามมาตรา 21 และมาตรา 11 (2) ให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 44 ที่ให้กู้ยืมเงินการศึกษา หน้าที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาคืนให้กองทุน และ 2 ผู้กู้ยืม เลือกทำงานแทนการชำระหนี้ เพื่อการศึกษาที่ได้รับตามสัญญากู้ยืมเงินคืนกองทุน ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการกำหนด, ให้เงินกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาปลอดดอกเบี้ย นับแต่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และมีเงินค้าง ก็ให้ชำระคืนเงินต้น ตามคณะกรรมการกำหนด, กรณีจำเป็น ให้ผ่อนผันชำระเงินคืน แตกต่างตามจำนวน ระยะเวลา วิธีการกำหนดตามวรรค 1 หรือ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการกำหนด มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ตามมาตรา 44 (1) ในกรณีผู้กู้ได้รับเกียรตินิยม ให้แปลงเงินเป็นทุนเพื่อการศึกษาแทน ไม่มีหน้าที่ชำระเงินกู้คืน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตามมาตรา 7 และให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้แทนในมาตรา 44 ดังนี้

ในกรณีผู้กู้ยืมเงิน จบสาขาที่กระทรวงศึกษากำหนด แปลงเงินกู้เป็นทุนเพื่อการศึกษาแทน ส่วนมาตรา 8 ให้ผู้กู้ที่ศาลมีคำพิพากษาก่อนพ.ร.บ.นี้บังคับใช้ เมื่อได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก็หลุดพ้น ข้อมูลเครดิตบูโร

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า เห็นด้วยการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กองทุนเราเป็นกองทุนให้อนาคต ภาพรวมของกยศ. จำนวน 7.9 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นหนี้เสียที่ลูกหนี้ติดอยู่ มีนักเรียนได้โอกาสในการกู้กยศ. 5.6 ล้านคน กู้ไปแล้ว 6 แสนล้านบาท ผิดนัดชำระหนี้ 2.3 แสนคน คิดเป็น 65% ในเส้นทางการชำระหนี้ ถ้าไม่มีการชำระหนี้ก็ต้องมีการบังคับคดี และให้ผ่อนชำระหนี้ ตอนนี้มีนักศึกษากยศ.เป็นแพทย์ จำนวน 20,000 คน มีศิษย์เก่าที่เคยกู้เงิน ตอนนี้ก็มีธุรกิจหลายแห่งรวยเป็นร้อยล้าน เราใช้งบแผ่นดินทุกปี 2 ปีหลัง เราไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ถ้าเรามีเงินจากการชำระหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน เมื่อก่อนมีเงินชำระหนี้คืนกลับเข้ามากยศ. 5 พันกว่าล้านบาท ปัจจุบันมีเงินที่ชำระหนี้กลับเข้ามากว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่า ดอกเบี้ยกยศ. อยู่ที่ 1% เมื่อก่อนดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 18% ตอนนี้กยศ.ปรับเหลือ 7.5% เท่ากับกฎหมายแพ่ง การชำระหนี้ของกยศ. นักเรียนแต่ละคนเฉลี่ยกู้เงินจำนวน 1 แสนบาท ให้เวลาผ่อนชำระ 15 ปี ยอดเงินที่ต้องชำระหนี้ เดือนละ 1,500 บาท ปีที่ 2 เดือนละประมาณ 3,000 บาท การผ่อนชำระหนี้กองทุน กู้ 1 แสนบาท เฉลี่ยเก็บเงินวันละ 5 บาท ปีต่อไป 5-10 บาท ทำเช่นนี้ 15 ปี ก็ชำระหนี้ได้ 1 แสน และเหลือเงินออม 3,000 กว่าบาท และปัจจุบันสามารถชำระผ่านคิวอาร์โคด ไม่ต้องไปธนาคาร

“เราพบว่าปัญหามาจาก 3 สาเหตุ คือ ยากจน ขาดแคลน กลุ่มที่ 2 มีหนี้อื่น เลือกชำระหนี้อื่นก่อนและเลือกชำระหนี้กยศ.สุดท้าย และ กลุ่ม 3 มีเงิน แต่ไม่จ่าย กยศ.ติดตามหนี้อย่างอะลุ้มอล่วย ฟ้องคดีด้วยความจำเป็นมากกว่า 5 แสนคดี กยศ.เดินสายไปทั่วประเทศ เพื่อไปรับฟังความเห็นของลูกหนี้ สิ่งที่ทำให้กับคนที่ถูกดำเนินคดี ถ้าใครถูกฟ้องไปที่ศาล เราลดเบี้ยปรับลง และ ขยายระยะเวลาชำระหนี้อีก และ ถ้าใครต้องการปิดบัญชีจะลดเบี้ยปรับ 80% ถ้าต้องการปิด แต่จ่ายเป็นก้อนไม่ได้ ก็ลดเบี้ยปรับให้ 75% คนยากจน เราลดค่าธรรมเนียมผิดนัด และ ปรับเพิ่มค่าครองชีพให้เดือนละ 600 บาท ตกเดือนละ 4.3 พันล้านบาท เราหักเงินเดือนด้วยความละมุนละม่อม แต่ถ้าไม่ไหว เราพูดคุยกันได้” นายชัยณรงค์ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น