รมว.สธ.ยันน้ำไม่ท่วม รพ.สรรพสิทธิประสงค์ แต่มีการระดมชางบ้านบรรจุทราย วางแนวป้องกัน ทำให้บอกปากต่อปากจนเข้าใจผิด ยันยา แพทย์ไม่มีขาด ดูแลเต็มที่ แจงชาวบ้านร้องดูแลล่าช้า ต้องดูข้อเท็จจริง ทำให้ถูกใจทุกคนไม่ได้ แต่ช่วงอุบัติภัยไม่มีทิ้งแน่
วันนี้ (13 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีกระแสข่าวน้ำท่วม รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ว่า ยืนยันว่าไม่มีน้ำเข้าท่วม รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จากการตรวจสอบกับทาง นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 10 ที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าง ก็รายงานสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องก็ยังไม่มีน้ำท่วม รพ. อย่างไรก็ตาม กระแสขาาวน้ำท่วมน่าจะมาจากการระดมคนช่วยกันขนอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นที่สูงเพื่อป้องกัน และระดมชาวบ้านมาช่วยตักทรายบรรจุถุงเพื่อวางแนวป้องกัน จึงเกิดการบอกปากต่อปากเลยกลายเป็นน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม แม้น้ำจะยังไม่ท่วมก็ต้องระวังตลอดเวลา ประมาทไม่ได้ ก็พูดไม่ได้ว่าน้ำลดแล้วจะไม่ท่วมอีก
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนเรื่องเตรียมรองรับผู้ป่วยต่างๆ จากน้ำท่วม สธ.ให้ความมั่นใจ ว่า ยาและแพทย์เรามีความพร้อม ซึ่งจะเตรียมพร้อมไปจนถึงช่วงน้ำลดแล้ว ที่ต้องระวังเป็นสองเท่า เพราะเชื้อโรคต่างๆ จะออกมาเยอะขึ้น การติดเชื้อการฟักตัวของโรคก็เกิดขึ้นในช่วงน้ำลด ขอให้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล อนามัยต่างๆ และดูตัวเราเอง ที่ห่วงที่สุดต้องไฟช็อต อย่าใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะแช่อยู่ในน้ำ ต้องสับคัทเอาต์ถ้าน้ำท่วม แม้น้ำลดก็ต้องระวัง เพราะเต้าอาจมีความชื้นหรือยังเปียกน้ำอยู่ หากเสียบเข้าไปมีโอกาสเป็นไก่ย่างได้ ต้องระวัง
เมื่อถามถึงกรณีชาวบ้านร้องตามเพจ ว่าทางการช่วยเหลือล่าช้า นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูว่า ที่เขียนเข้ามามีข้อเท็จจริงแค่ไหน บางทีเขียนด้วยความโกรธอารมณ์ร้อน อาจมีความไม่พอใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนพอใจ เวลามีอุบัติภัยต่างๆ ทั้งนี้ สธ.สั่งการจังหวัดที่ประสบเหตุให้เตรียมพร้อมตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ของกระทรวง เราตั้งมาเป็น 100 ปี ประสบการณ์ตั้งรับมือสถานการณ์มีขั้นตอนระเบียบปฏิบัติ มีวิธีการทำงานชัดเจน ไม่ต้องไปสั่ง เป็นไปไม่ได้อุบัติภัยที่ไหนแล้ว สธ.เพิกเฉยไม่ช่วยเหลือ แต่ช่วยเหลือต้องช่วยในมาตรฐานที่กระทรวงมั่นใจว่า ได้เยียวยา ทำให้พี่น้องพ้นจากความเดือดร้อน แต่ความคาดหวังของแต่ละคนไม่เท่ากัน สูญเสียมาก น้อยต่างกัน แต่ทุกคนเต็มที่ เรื่องยาไม่มีขาดเลย นอกจากนี้ ยังให้เฝ้าระวังทุกจังหวัดที่สุ่มเสี่ยงด้วย
ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า อุบลราชธานียังคงมีน้ำท่วมอยู่ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปิดให้บริการ 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ รพ.สต.ทัพไทย อ.เมือง รพ.สต.สร้างแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร รพ.สต.แก่งโดม รพ.สต.สว่าง อ.สว่างวีระวงศ์ และ รพ.ท่าบอแบง อ.ตระการพืชผล ซึ่งระดับน้ำลดลงแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมฟื้นฟู ส่วน รพ.ใหญ่ไม่มีที่ไหนได้รับผลกระทบ อย่าง รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่เตรียมความพร้อมรับมือขนย้ายเครื่องมือแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ผู้ป่วยขึ้นพื้นที่สูงของอาคาร และวางกระสอบทรายเพื่อป้องกันเต็มที่ หากน้ำท่วมจริงก็มีการสำรองยา เวชภัณฑ์ และไฟฟ้าพร้อมใช้งานกรณีฉุกเฉินนาน 3 วัน และเตรียมระบบส่งต่อผู้ป่วยหนักไปรักษาต่อที่ รพ.ศรีสะเกษ ซึ่งเส้นทางระหว่างอุบลราชธานีไปยังศรีสะเกษยังไม่ได้รับผลกระทบ
นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ จ.อุบลราชธานี เปิดศูนย์พักพิง 60 แห่ง จัดส่งทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแล รวมถึงทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลจิตใจประชาชนด้วย ตอนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง 603 คน แบ่งเป็น หญิงตั้งครรภ์ 77 คน ผู้ที่ต้องได้รับวัคซีน 23 คน ผู้ป่วยจิตเวช 29 คน ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน 400 คน ผู้ป่วยหอบหืด 8 คน ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางหน้าท้อง 41 คน ต้องฟอกไตด้วยเครื่อง 14 คน ผู้ป่วยวัณโรค 11 คน ตอนนี้ดูแลหมดแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับเอาผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ในการรักษาประมาณ 5-6 รายก็รับเข้าไว้ดูแลในรพ. ส่วนผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ ก็รับไปดูแลต่อที่ศูนย์พักพิง ส่วนสถานการณ์การเจ็บป่วยที่มากับน้ำท่วมนั้น มีการะวังเรื่องไข้หวัด ท้องเสีย โรคฉี่หนู ซึ่งยังไม่มีปัญหาอะไร อาจจะมีบ้างที่มีอาการท้องเสีย แต่ไม่ได้มีการระบาดในวงกว้าง
นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเข้าเมื่อประมาณปลายเดือนส.ค. ถึงปัจจุบัน ทั้งศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร ตอนนี้สถานการณ์น้ำลดลง เริ่มเข้าสู่สภาพปกติ ที่ยังมีน้ำท่วมอยู่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา รพ.เปิดให้บริการได้ทุกแห่ง