เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดิฉันไปร่วมเวทีเสวนาหัวข้อ “สื่อดิจิทัลส่งเสริมหรือบั่นทอนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย” ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ครั้งที่ 4 โดยได้รับมอบหมายให้พูดถึงประเด็นสื่อดิจิทัลสำหรับปฐมวัยที่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นหลัก
ประเด็นนี้จะคาบเกี่ยวกับคุณครูปฐมวัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนูน้อยวัยอนุบาล ซึ่งโรงเรียนก็เสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กวัยนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่บ้านและโรงเรียนต้องมีความเชื่อมโยงกัน และต้องมีการทำงานความคิดให้สามารถสอดคล้องและเข้าใจถึงข้อดี ข้อด้อย ข้อเสียของสื่อดิจิทัลสำหรับเด็กปฐมวัยด้วย
เพราะเด็กปฐมวัยยังต้องอยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องที่จะปล่อยตามมีตามเกิดไม่ได้ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยต้องมีความรู้ และเข้าใจถึงพัฒนาการตามวัยของเด็กวัยนี้ว่าควรจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างไรจึงเหมาะสม
The National Association for the Education of Young Children และ Fred Rogers Center for Early Leaning and Children’s Media at Saint Vincent College (NAEYC & the Fred Rogers Center, 2012) ยืนยันว่า การใช้เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ดีวีดี และเกม กับเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึง 8 ปี จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในเรื่องความคิด สติปัญญา และอารมณ์ แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า จะต้องใช้อย่างถูกวิธีตามความเหมาะสม และความสามารถของครูปฐมวัยและผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของเด็กปฐมวัยในยุคปัจจุบัน
ดังนั้นการที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับเด็ก สิ่งที่ต้องคำนึงคือ วิธีการเลือกเครื่องมือ และแอพพลิเคชั่น เครื่องมือที่นำมาใช้ในเรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีนั้นต้องช่วยให้เด็กสามารถค้นคว้า สร้างโอกาส และต้องส่งเสริมให้เด็กมีทางเลือกในการสร้างจินตนาการ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
หากให้เด็กใช้โดยปราศจากการควบคุมดูแลของผู้ใหญ่ หรือใช้มากเกินไป หรือใช้ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็กก็จะกลายเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กในด้านต่าง ๆ ได้
สิ่งสำคัญคือ ก่อนที่เด็กจะรู้จักกับสื่อดิจิทัลทั้งหลาย พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีทักษะทางสังคมที่ดีเสียก่อน ให้พวกเขาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงสอนให้เด็กเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น รู้จักควบคุมอารมณ์ อดทนรอคอยได้ ถ้าหากพ่อแม่ละเลยทักษะที่สำคัญเหล่านี้ และมาฝึกในภายหลังจะทำได้ยาก เพราะเด็กที่ติดสื่อดิจิทัลมีแนวโน้มจะแยกตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เอาแต่ใจตนเองและอดทนรอคอยไม่เป็น ซึ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็ก
การสร้างรากฐานที่ดีให้กับลูกช่วงปฐมวัยสำคัญที่สุด การส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่หลากหลาย และฝึกทักษะที่จำเป็น ต้องเริ่มจากพ่อแม่ ที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับลูก จะเป็นกิจกรรมในบ้าน หรือนอกบ้านที่มีความเคลื่อนไหวก็ได้ ไม่ต้องเร่งรีบให้เขารู้จักสื่อดิจิทัล เพราะเด็กยุคนี้เป็นเด็กยุคดิจิทัล (Digital Native) เขาเติบโตมาในยุคของเขา อย่าคิดว่าต้องฝึกเขาตั้งแต่เล็กเลย เพราะเมื่อถึงวันที่เขาได้สัมผัสสื่อดิจิทัลเแล้ว เขาสามารถใช้ได้เร็วและคล่องแคล่วกว่ารุ่นพ่อแม่มาก แต่ควรฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับวัยของเขามากกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องมี และตระหนักก่อนที่จะให้เด็กใช้สื่อดิจิทัล มีข้อคิดดังนี้
ประการแรก - เปลี่ยน Mindset
พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยต้องปรับ Mindset ก่อนว่า “สื่อดิจิทัล” เป็นของมีคมสำหรับเด็กปฐมวัย นึกถึงเวลาที่พ่อแม่ใช้มีดหรือของมีคม เรายังไม่ยอมให้ลูกวัยเด็กเล็กใช้เลย เราจะค่อยๆ สอนวิธีการใช้ และสอนว่าควรระมัดระวังอย่างไรไม่ให้บาดเรา ก็เพราะเรารู้ว่าลูกเรายังเล็ก ยังไม่ปลอดภัย ยังไม่เหมาะกับเด็ก ฉะนั้นถ้าเราปรับวิธีคิดว่าสื่อดิจิทัล ก็เป็นอุปกรณ์ที่ยังไม่ปลอดภัย ยังไม่ควรให้ลูกใช้จนกว่าจะถึงวัยที่เหมาะสมหรือเมื่อเขาพร้อม จะไม่ดีกว่าหรือ?
ประการที่สอง - ปรับ My Time
สำหรับพ่อแม่ที่รักความสบายและมักง่ายทั้งหลาย ที่มักใช้มือถือหรือแท็บเล็ต มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูก เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาพัก ต้องตระหนักเสมอที่จะไม่ใช้วิธีมักง่ายในการเลี้ยงลูก เช่น เวลาลูกงอแง ดื้อ ไม่เชื่อฟังก็ส่งมือถือให้ลูก หรือเวลาพ่อแม่เหนื่อยก็ส่งมือถือให้ลูก ฯลฯ นั่นเท่ากับคุณกำลังทำร้ายลูก เพราะช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในช่วงชีวิตมนุษย์ที่สมองสามารถพัฒนาถึงขีดสุดได้มากที่สุดอยู่ในช่วงปฐมวัย จึงจำเป็นที่พ่อแม่ต้องเสียสละเวลา หรือการ “เอาตัวเข้าแลก” พยายามปรับเวลาของตัวเอง ให้มีเวลาคุณภาพกับลูก อยากให้ลูกวิ่งเล่นนอกบ้าน ก็ต้องออกไปวิ่งเล่นกับลูกด้วย อยากให้ลูกอ่านหนังสือ ก็อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่าลูกต้องทำอะไรเท่านั้น เพราะการพูดว่าลูกอย่าเล่นหรือห้ามเล่น มันไม่ดี แล้วลูกจะเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่ฟังมากกว่ากัน
ประการที่สาม - มี My Rule
ข้อนี้สอดคล้องกับ 2 ข้อแรก พ่อแม่ต้องมีกฏเกณฑ์ กติการ่วมด้วย เพราะจะช่วยสร้างรากฐานระเบียบวินัยให้กับเด็ก ต้องมีกฎว่าจะให้ใช้ได้นานแค่ไหน โดยต้องตระหนักว่าช่วงทารกจนถึง 2 ขวบ ไม่ควรให้เด็กใช้สื่อดิจิทัล และเมื่อเติบโตมากขึ้นก็กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน เริ่มจากระยะเวลาสั้นๆ เพียง 10 นาที และถึงจะค่อยๆ เพิ่มตามวัย โดยพ่อแม่ก็ควรจะเคร่งครัดกับกฎเกณฑ์กติกานั้นๆด้วย ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย เพราะพ่อแม่ยุคนี้ติดมือถืออย่างมาก ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้าด้วย ต้องคิดเสมอว่าพฤติกรรมของเราในวันนี้ส่งผลต่อลูกในวันหน้า
สรุปง่ายๆ ถึงแนวทางการใช้สื่อดิจิทัลที่เหมาะสมและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย สามารถทำได้ ด้วยแนวคิดของการ “ใช้” ที่เหมาะสมด้วย
1. ใช้ ให้เหมาะกับวัย
2. ใช้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
3. ใช้ เสริมสื่อหลัก
4. ใช้ เท่าที่จำเป็น
5. ใช้ วิธีกำหนดเวลา
6. ใช้ อย่างปลอดภัย
7. ใช้ ร่วมกับเด็ก
ก็อย่างที่เคยพูดไว้แล้วหลายครั้งว่าสื่อดิจิทัลเปรียบเสมือนมีด 2 คม ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่คมมีดก็จะทำร้ายคนใช้ได้
ฉะนั้น “สื่อดิจิทัลส่งเสริมหรือบั่นทอนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย” ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ล้วนๆ เลยค่ะ