รพ.ชลบุรี เปิดตัวแอปพลิเคชัน "CBH PLUS" ช่วยผู้ป่วยตรวจสอบสิทธิการรักษาผ่านมือถือ ลดขั้นตอนใน รพ. กดรับบัตรคิว ดูคิวได้แบบเรียลไทม์ช่วยลดความแออัดหน้าห้องตรวจ เผยช่วยลดเวลาการอยู่ รพ.ลงได้กว่าครึ่ง เล็งต่อยอดจนถึงจ่ายค่ารักษาต่างๆในแอปฯเดียว
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ รพ.ชลบุรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน CBH PLUS ว่า รพ.ชลบุรี เป็นรพ.ศูนย์ขนาดใหญ่ มีประชาชนมาใช้บริการอย่างเนืองแน่นและมีความแออัด ทั้งจากประชากรภายใจังหวัดและประชากรแฝงกว่าล้านคน ซึ่งนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ.และของตนนั้น คือ การใช้เทคโนโลยีหรือไอทีมาช่วยลดความแออัดใน รพ. ซึ่งเท่าที่เดินทางไปยัง รพ.ศูนย์ต่างๆ ก็พบว่ามีการพัฒนาด้านไอทีเพื่อช่วยลดขั้นตอน ลดบริการ ลดการรอคอย ซึ่ง รพ.ชลบุรีเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “CBH PLUS” ช่วยเพิ่มความสะดวกประชาชนผู้รับบริการ อาทิ ระบบจองคิวและบอกคิวที่อัปเดตสถานะแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาไปทำภารกิจอื่นก่อนถึงเวลาตรวจได้ แจ้งเตือนนัดหมายพบแพทย์ ระบบชำระเงิน ข่าวสารทางสุขภาพ ระเบียนสุขภาพเข้าถึงประวัติทางการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นแอปพลิเคชันโรงพยาบาลแห่งแรกที่เชื่อมต่อฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งผู้ป่วยตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล ได้ทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ สิทธิ์หลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์สวัสดิการ การรักษาพยาบาลของข้าราชการ
“ ขอชื่นชมทุกท่านทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมมือกันพัฒนาระบบคิวนี้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถจองคิวการรักษาได้ด้วยตนเอง ใช้งานได้จริง ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ตอบโจทย์ปัญหาลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยที่มารับบริการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ สนับสนุนการทำงานของบุคคลากร และเพิ่มคุณภาพบริการซึ่งเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาและส่งต่อ ตั้งเป้าให้โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ ทั้งนี้ สธ.จะรวบรวมเทคโนโลยีที่แต่ละโรงพยาบาลมี และมาศึกษาว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อะไรในด้านไหนบ้างต่อไป” นายสาธิต กล่าว
ผศ.(พิเศษ) นพ.สวรรค์ ขวัญใจพานิช ผู้อำนวยการ รพ.ชลบุรี กล่าวว่า รพ.ชลบุรี เป็นรพ.ศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกหรือเขตสุขภาพที่ 6 มีเตียงผู้ป่วย 850 เตียง ให้บริการจริง 945 เตียง มีผู้ป่วยนอกจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 4 พันรายต่อวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ รพ.จึงมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับธนาคารกสิกรไทยพัฒนาแอปพลิเคชัน CBH PLUS ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงาน คือ สามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งสามกองทุน ผู้ป่วยสามารถทำผ่านแอปพลิเคชันได้เอง จึงลดขั้นตอนและเวลาในการเข้ามาติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเช็กสิทธิ ระบบระเบียนสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรกนิกส์ เช็กอิน-รับบัตรคิว อัปเดตคิวเรียลไทม์ แจ้งเตือนนัดหมายพบแพทย์ ระบบการชำระเงิน และข่าวสารทางสุขภาพ เป็นต้น
นพ.ชาญวิทย์ ชัยสุริยะพันธ์ หัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ รพ.ชลบุรี กล่าวว่า แอปพลิเคชันเริ่มดำเนินการใช้เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีดาวน์โหลดและขึ้นทะเบียนแล้วกว่าพันราย โดยตั้งเป้าเพิ่มการใช้ประมาณ 10% จากจำนวนผู้ป่วยนอก 4,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ที่ตั้งเป้าน้อยเพราะผู้ป่วยที่มาใช้บริการในรพ.ชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และการใช้แอปพลิเคชันก็จะเป็นลูกหลานช่วย ทั้งนี้ เบื้องต้นเริ่มใช้ในแผนกอายุรกรรมก่อน เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก ก่อนจะขยายไปยังแผนกอื่นๆ ซึ่งการใช้งานแอปพลิเคชันผู้ป่วยจะมีการลงทะเบียนยินยอมก่อนที่แผนกเวชระเบียน ซึ่งจะมีการถ่ายภาพใบหน้า และแจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ และเมื่อดาวน์โหลดแอปฯ มาแล้ว จะให้ลงทะเบียนใช้โปรแกรมยืนยันตัวตนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ชัดว่าผู้ที่ใช้งานเป็นตัวจริง ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้า
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนแล้วเมื่อเข้ามาในแอปพลิเคชัน สามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาจากที่ใดก็ได้ ซึ่งทำให้มีความสะดวกและรวดเร็ว ลดขั้นตอนการมาดำเนินการใน รพ. สำหรับในระยะแรก รพ.เริ่มใช้งานในผู้ป่วยที่มีการนัดคิวก่อน ซึ่งการเช็กอันรับบัตรคิวนั้น สามารถเช็กอินผ่านแอปพลิเคชันได้เลย แต่จะกำหนดว่าจะให้รับบัตรคิวผ่านแอปฯ ได้ก่อนเวลานัด 1 ชั่วโมง เช่น นัดช่วงเวลา 13.00-14.00 น. ก็จะสามารถกดรับบัตรคิวได้ในเวลา 12.00 น. ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องมา รพ.แต่เช้าเพื่อรอเอาบัตรคิวและมาแออัดกัน อย่างไรก็ตาม คิวจะไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ป่วยที่มารับบัตรคิวเอง เพราะการรันหมายเลขจะต่อเนื่องกัน แต่อนาคตก็จะพยายามให้ผู้ป่วยมารับบัตรคิวเองมารับภายในเวลาเช่นกัน สำหรับหมายเลขคิวที่ได้นั้นจะใช้ตั้งแต่เริ่มจนจบการรักษา คือไปจนถึงรับยาและจ่ายเงิน ทำให้ไม่ต้องจำหลายหมายเลข และเมื่อรับคิวแล้วก็จะบอกทันทีว่า อีกกี่คิวจึงจะถึงคิวเรา ทำให้สามารถไปทำอย่างอื่นก่อนได้ ช่วยลดความแออัดหน้าห้องตรวจ
“จากการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายขึ้น ยิ่งผู้ป่วยสูงอายุจะช่วยลดการรอคอยนานๆ ซึ่งการใช้แอปฯนี้พบว่าลดการรอคอยภาพรวม โดยใช้เวลาทั้งหมดตั้งแต่กดรับคิวผ่านแอปฯ จนพบแพทย์ รับยา ฯลฯ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เวลาภาพรวมในการมารับบริการรพ.ถึง 6-7 ชั่วโมง และในอนาคตจะพัฒนาแอปฯ ไปจนถึงขั้นสามารถจ่ายค่ารักษาได้ด้วย ซึ่งอาจจ่ายผ่านคิวอาร์โคด หรือบัตรเครดิต หรือพ่วงกับประกันที่ทำเพิ่มเติมได้” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว