รศ.พญ.พีระจิตร เอี่ยมโสภณา
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
ผู้ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายต้องการเพิ่มความยาวขาหรือเพิ่มส่วนสูง และสงสัยว่าทำได้จริงหรือไม่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง มีรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้
ผู้ป่วยที่มาปรึกษาเพื่อเพิ่มความยาวกระดูก โดยทั่วไปจะประสบปัญหาสูญเสียความยาวขาจากภาวะที่ได้รับอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกที่หายไป หรือมีการติดเชื้อที่กระดูกทำให้ต้องผ่าตัดนำกระดูกที่ติดเชื้อออกทำให้ขาสั้นยาวไม่เท่ากันก็จะมาปรึกษาแพทย์เพื่อยืดกระดูกให้มีความยาวขาเท่ากัน
ลักษณะของการยืดกระดูกกระทำโดยการผ่าตัด โดยตัดกระดูกส่วนที่จะผ่าตัดออก หลังจากนั้นจะสวมอุปกรณ์โลหะที่ทำการยืดกระดูกไว้นอกลำตัว ในการยืดจะทำการยืดวันละ 1 มิลลิเมตรโดยมีการสอนให้แก่ผู้ป่วยเพื่อผู้ป่วยสามารถกลับไปทำการยืดด้วยตนเองได้ที่บ้าน
เมื่อได้ความยาวขาที่ต้องการแล้ว ก็จะหยุดยืดและพิจารณาจากภาพถ่ายทางรังสีว่ากระดูกที่ทำการยืดไปมีความแข็งแรงเพียงพอในการลงน้ำหนักแล้ว จึงนำโลหะที่ยืดกระดูกออกและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกล้ามเนื้อต่อไป
โดยส่วนใหญ่แพทย์มักจะพิจารณาผู้ป่วยที่ต้องการยืดกระดูกโดยการผ่าตัดจากปัจจัย ดังนี้
ผู้ป่วยต้องมีความยาวขาที่ต่างกันมากกว่า 4 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะถ้าผู้ป่วยมีความยาวขาต่างกันเพียง 1-2 เซนติเมตรสามารถพิจารณาใช้รองเท้าเสริมส้นได้
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความพิการแต่กำเนิด มีขาสั้นข้างยาวข้างตั้งแต่กำเนิด ก็จะพิจารณาเมื่อผู้ป่วยมีอายุ 5 ปีขึ้นไป เนื่องจากอุปกรณ์มีความซับซ้อนในการดูแล ซึ่งต้องการความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้ป่วยในระดับหนึ่ง
อีกกรณีในส่วนของการเพิ่มความสูง โดยทั่วไปแล้วจะไม่นิยมการเพิ่มความสูงโดยการยืดขาทั้ง 2 ข้างเนื่องจากค่อนข้างใช้เวลานานและมีปัญหาข้อแทรกซ้อนตามมาค่อนข้างมาก การพิจารณาเพิ่มความสูงมักทำกับผู้ป่วยกระดูกพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า “ภาวะแคระ” ซึ่งนอกจากจะมีปัญหาเรื่องความสูง ก็มักจะมีภาวะขาโก่งขาเกร่วมด้วย ผู้ป่วยก็จะทำการยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความสูงไปพร้อมกับการแก้ภาวะขาโก่งขาเก
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จะประกอบไปด้วย ข้อยึดติดหลังการยืดกระดูกเนื่องจากกระดูกที่ถูกยืดจะถูกยืดไปพร้อมๆกับกล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท ในอัตราส่วนวันละ 1 มิลลิเมตร ยิ่งมีความยาวในการยืดมากเท่าไรโอกาสที่ข้อจะยึดติดก็จะมีมากขึ้นเท่านั้นซึ่งต้องอาศัยการกายภาพบำบัดฟื้นฟูภายหลังจากที่ถอดอุปกรณ์ออก สิ่งต่อมาที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ การติดเชื้อ เพราะว่าอุปกรณ์ที่ทำการยืดอยู่ภายนอกร่างกายสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกตลอดเวลา สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรับการผ่าตัด ก่อนที่ผู้ป่วยจะพิจารณาหรือได้รับการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลแทรกซ้อนจากแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างละเอียดอีกครั้ง
ปัญหาเรื่องความสูงมาจากปัจจัยที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นการยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความยาวจะพิจารณาสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น สำหรับเด็กๆ อยากจะมีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น ต้องประกอบด้วยการนอนหลับพักผ่อนและการออกกำลังกายที่เหมาะสม การดื่มนมและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะทำให้เรามีส่วนสูงที่เหมาะสมได้
*******
กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
#เชิญชวนร่วมงานสัปดาห์การแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 1 “หมอไทย ท่าศิริราช ภาคประชาชน” ในวันที่ 2-4 กันยายน 2562 เวลา 08.45-15.30 น. ณ ศาลาศิริราช ๑๐๐ ปี (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย)สอบถามเพิ่มเติม โทร. 09 8258 8483