เชื่อว่าหลายคนยังจำกันได้เมื่อปี 2561 มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระฉ่อนโซเชียลเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบสถ์วิหาร ซุ้มประตู ใบเสมา พระพุทธรูป เจดีย์ ตามวัดต่างๆ หลายแห่ง ผิดวิธี ผิดหลักการบูรณะ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยการทาสีทองเหลืองอร่ามไปทั้งวัด
ขณะนี้สารเคมีซึ่งเป็นส่วนผสมของสีได้เข้าไปทำลายกัดกร่อนปูน ใบเสมา ส่งผลให้สีหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ
จากปัญหาดังกล่าว กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งดำเนินการสำรวจ รวมถึงทำการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ของตัวอย่างสีทอง เพื่อหาแนวทางแก้ไขและหาวิธีการบูรณะ อนุรักษ์ให้กลับมางดงามดั่งเดิม
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมศิลปากร นำโดย นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร น.ส.อัจฉรา แข็งสาริกิจ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีได้พาคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ไปดูความคืบหน้าการนำร่องลอกสีทอง 3 วัด จาก 9 วัด ได้แก่ วัดโพธาราม วัดไชนาราม และวัดลาวทอง
นายอรุณศักดิ์ บอกว่า จากการสำรวจทั่วประเทศ พบการบูรณะโบราณสถานผิดหลักการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ ประมาณ 40 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่ได้มาขออนุญาตจากกรมศิลปากร แต่ดำเนินการบูรณะกันเอง โดยใช้สีสมัยใหม่ที่มีความคงทนสูง แต่ปัญหาของสีสมัยใหม่นั้นไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในการอนุรักษ์ เนื่องจากสีมีส่วนผสมบางอย่างทำให้ไม่สามารถระบายความชื้นออกมาได้ ทำให้เนื้อปูนผนังผุกร่อนได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบด้วยว่ามีการฉาบปูนซีเมนต์ดำทับปูนเก่า ซึ่งไม่มีคุณสมบัติการยึดเกาะกับชิ้นงานเก่าและอิฐเก่าหลุดร่อนออกมาเช่นกัน
"ก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดำเนินการลอกสีทองออกนั้น กรมศิลปากรได้ทำความเข้าใจกับทางวัด ชุมชน อธิบายถึงปัญหาจากการอนุรักษ์ที่ผิดวิธี อีกทั้งขอความร่วมมือกับทางวัดด้วยว่าครั้งต่อไปจะดำเนินการอนุรักษ์สิ่งใดๆ ขอให้ประสานกับกรมศิลปากร จะได้หาแนวทางการบูรณะร่วมกันอย่างถูกวิธี"
ขณะที่ น.ส.อัจฉรา บอกว่า จากการสำรวจพบว่า จ.สุพรรณบุรี มีปัญหาโบราณสถานที่ถูกทาสีทองจำนวน 9 วัด แต่ได้คัดเลือกลอกสีทอง เป็นการนำร่อง 3 วัด คือวัดโพธาราม วัดไชนาวาส วัดลาวทอง เหตุผลที่เลือก 3 วัดนี้ เนื่องจากมีโบราณสถานที่เก่าแก่ วัดสำคัญอันดับต้นๆ มีประติมากรรมสวยงาม สภาพความเสียหายจากการทาสีทองมาประกอบการพิจารณาคัดเลือกด้วย อย่างไรก็ตาม การลอกสีทองจะลอกเฉพาะในส่วนสำคัญๆ ก่อน เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด ส่วนที่เหลือจะดำเนินการในปีงบประมาณถัดๆไป
นายฉัตรชัย รักษา นายช่างศิลปกรรมปฏิบัติงาน กองโบราณคดี กล่าวว่า วัดโพธาราม เป็นวัดเก่าแก่ของชุมชนจระเข้สามพัน เป็นวัดที่มีพระเกจิดัง หลวงปู่เปี้ยน อดีตเจ้าอาวาส ที่ประชาชนนับถือมากมาย ภายในวัดมีอาคารโบราณสถานที่มีคุณค่าและความสำคัญ ทั้งด้านพุทธศาสนา ศิลปกรรม และด้านประวัติศาสตร์
พบว่าอุโบสถถูกทาสีทองทั้งหลัง รวมถึงใบเสมาหินทราย ซุ้มประตู ศิลปะช่างอยุธยาตอนปลาย ขณะนี้ได้ดำเนินการลอกสีทองซุ้มประตู และใบเสมาหินทราย เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากได้ทำการลอกสีซุ้มประตู ทำให้มองเห็นสภาพความชำรุดของซุ้มประตูได้อย่างชัดเจน ซึ่งความชำรุดของซุ้มประตูจะแยกออกเป็นสองส่วน คือ สภาพความชำรุดของโครงสร้างโดยรวม และความชำรุดของงานประติมากรรมที่ตกแต่งส่วนยอดของซุ้มประตู ความเสียหายของชิ้นงานโดยรวมเกิดจากการเสื่อมสภาพของตัววัสดุ ตามกาลเวลาการสร้างชิ้นงานศิลปกรรม
"ลักษณะของซุ้มประตูเป็นแบบยอดมณฑป โครงสร้างเป็นอิฐก่อฉาบด้วยปูน ช่องซุ้มมีลักษณะโค้งด้านบน ยอดซุ้มเป็นหน้าบันซ้อนชั้นทั้งสี่ด้านประกอบเครื่องลำยอง ประติมากรรมปูนปั้นรูปพญานาคใบระกา ในกรอบซุ้มประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงรูปครุฑยุดนาค รองดับด้วยชั้นลายกระจังปั้นประดับตามแนวเส้นลวดและบัวอกไก่โดยรอบ ส่วนด้านบนสุดเป็นมณฑปย่อมุมไม้สิบสองมีฐานซ้อนกันสามชั้น มีชั้นบัวรองรับชั้นองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมและปลียอด บริเวณองค์ระฆังประดับลวดลายเจดีย์ทรงเครื่อง ตรงฐานมณฑปตกแต่งด้วยประติมากรรมลอยตัวรูปยักษ์แบกอยู่ทั้งสี่มุม" นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันหาชมซุ้มประตูลักษณะนี้ได้ยาก เราจะดำเนินการอนุรักษ์ให้งดงามดั่งเดิม เพื่อคนรุ่นหลังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ช่างฝีมือของบรรพบุรุษต่อไป ส่วนใบเสมาก็มีลวดลายที่สวยงามแต่ละใบด้านหน้าและด้านหลังไม่ซ้ำแบบกัน
ขณะที่วัดไชนาวาส พบว่าวิหารน้อย ใบเสมาคู่ สร้างจากหินทราย ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เจดีย์ และพระพุทธรูป จำนวน 8 องค์ รอบวิหารน้อย ถูกทาสีทอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลอกสีทองใบเสมาออกเรียบร้อยแล้ว
ส่วนวัดลาวทอง นายอธิป พวงสมบัติ นักวิชาการช่างศิลป์ บอกว่า เจ้าหน้าที่ได้ลอกสีทองออกจากองค์หลวงพ่อดำ ตามที่ชาวบ้านเรียก และตรงตามหลักฐานองค์พระมีสีดำกลับคืนมาเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม หลังจากลอกสีทองออกเราพบความเสียหายองค์พระชั้นหินมีลักษณะผุกร่อนบางส่วน อย่างไรก็ตาม จะทำการบูรณะให้กลับมาเหมือนเดิม
ทุกขั้นตอนการปฏิบัติงานลอกสีทองออก ไม่ว่าจะซุ้มประตู พระพุทธรูป ใบเสมาหินทราย ล้วนแล้วต้องใช้ความละเอียดอ่อน ขอฝากว่า ก่อนจะบูรณะโบราณสถาน โบสถ์ วิหาร และอื่นๆ ที่มีอายุเก่าแก่ ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้เป็นมรดกรุ่นลูกหลาน ขอให้หารือกรมศิลป์ก่อนดำเนินการใดๆ