xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงยิบปลดล็อก "กัญชา-กัญชง" แค่บางส่วนจากยาเสพติด ไม่มีล็อกสเปก จ่อออก กม.เพิ่มใช้ประโยชน์เชิงศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ.แจงปลดล็อก "กัญชา-กัญชง" แค่บางส่วนออกจากยาเสพติด ยันไม่มีล็อกสเปก เหตุสารซีบีดีบริสุทธิ์ที่ ปชช.ทำไม่ได้ เป็นการใช้งานในแล็บเท่านั้น ส่วน "เมล็ดกัญชง-น้ำมันเมล็ดกัญชง" นำมาใช้อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง เตรียมออกกฎกระทรวงให้เอกชนปลูกได้ พร้อมออกประกาศรองรับเพิ่มเติม ด้านภาคประชาสังคมขอกำหนดทีเอชซีในกัญชง 0.2-1% แทน ให้มีสายพันธุ์ครอบคลุมยิ่งขึ้น

จากกรณีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 เพื่อปลดล็อกสารสำคัญบางส่วนของพืชกัญชาและกัญชงออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจเป็นการเอื้อภาคเอกชน เพราะมีข้อกำหนดที่ประชาชนไม่สามารถทำได้

วันนี้ (2 ก.ย.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการปลดล็อกกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ชาติ ว่า ประเทศไทยนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการรักษาพยาบาล ส่วนกัญชงนำเส้นใยมาใช้ จึงมีการหารือว่า จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์มากขึ้นทั้งต่อประชาชนและเศรษฐกิจ จึงมีการออกประกาศดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์สารจากกัญชาและกัญชง โดยเฉพาะกัญชงให้มีโอกาสเชิงอุตสาหกรรมครอบคลุมมากขึ้น แต่ยืนยันว่า ทั้งหมดต้องเป็นการทำโดยคนไทย ผลิตภายในประเทศ ไม่มีการนำเข้า หรือเปิดให้ต่างชาติอย่างแน่นอน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงมีการออกประกาศ 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 และประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่องกำหนดลักษณะกัญชง พ.ศ.2562 เพื่อแยกกัญชงกับกัญชาให้ชัดเจน และประกาศยกเว้นวัตถุดิบและสารสำคัญบางส่วนไม่ต้องเป็นยาเสพติดประเภท 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจและส่งออกในอนาคตได้

"กัญชาและกัญชงยังถือว่าเป็นยาเสพติด แต่มีการปลดล็อกบางส่วนให้ไม่ต้องเป็นยาเสพติดและนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในส่วนของกัญชงที่ปลดล็อก คือ 1.สารแคนนาบิไดออล (ซีบีดี) บริสุทธิ์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 99 โดยมีสารทีเอชซีไม่เกินร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนัก ซึ่งข้อนี้ทำให้เกิดข้อกังวลว่า เป็นการล็อกสเปกจนประชาชนไม่สามารถทได้นั้น ข้อเท็จจริง คือ เจตนารมณ์เพื่อให้ใช้เป็นสารมาตรฐานในห้องแล็บ 2.สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดที่มีซีบีดีเป็นสวนประกอบหลักและมีทีเอชซีไม่เกินร้อยละ 0.2 เจตนาเพื่อเอามาทำเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร  3.เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง นำมาใช้เป้นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารได้  4.น้ำมันเมล็ดกัญชง นำมาใช้ทำเครื่องสำอาง และ 5.เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง เป็นการยกเว้นเดิมอยู่แล้ว โดยกำหนดว่า ใน 5 ปีแรกจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการไทย" นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนกัญชาจะยกเว้นในส่วนของสารซีบีดีบริสุทธิ์ 99% เช่นเดียวกับกัญชงเพื่อใช้ทำเป็นสารมาตรฐาน และสารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสกัดที่มีซีบีดีเป็นหลักและมีทีเอชซีไม่เกินน้อยละ 0.2 เพื่อทำเป้นยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยกำหนด 5 ปีแรกที่ให้ผลิตในประเทสและคนไทยเท่านั้นเช่นกัน  ส่วนเปลือกแห้งต่างๆ เป็นการยกเว้นตามกฎหมายเดิมอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้น ที่กังวลเรื่องล็อกสเปกต่างๆ จนประชาชนไม่สามารถทำได้นั้น อาจเกิดจากการเข้าใจคลาดเคลื่อนในตัวประกาศ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในฐานะเครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน ทันทีที่เห็นร่างปกระกาศกระทรวงฯ จึงเกิดความกังวล เพราะมีการกำหนดความหมายของกัญชงที่ต้องมีทีเอชซีในใบและดอกไม่เกิน 0.5% ทั้งที่กฎกระทรวงเดิมปี 2559 กำหนดไว้ที่ 1% จึงอยากทราบว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการกำหนด และเมื่อกำหนดเช่นนี้แล้วจะครอบคลุมไปถึงกัญชงเดิมที่เคยประกาศในปี 2559 หรือไม่ ขณะที่อนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ก็ไม่มีการกำหนดเรื่องมาตรฐานสารทีเอชซีในกัญชง เป็นมาตรฐานกันเองของแต่ละประเทศ เช่น ยุโรป ไม่เกิน 0.2%  สหรัฐอเมริกา ไม่เกิน 0.3% สวิตเซอร์แลนด์ ไม่เกิน 1% หลายมลรัฐในออสเตรเลียไม่เกิน 1% ซึ่งการกำหนดให้สารทีเอชซีต้องไม่เกินแคบเช่นนี้ ก็กังวลว่า สายพันธุ์กัญชงในไทยจะมีความหลากหลายมากพอหรือไม่ เท่าที่ทราบที่ขึ้นทะเบียนอยู่ก็มีเพียง 4 สายพันธุ์ และซีบีดีก็ไม่ได้สูง จะดีกว่าหรือไม่ หากทบทวนกำหนดมาตรฐานในประเทศที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เช่น อยู่ในช่วง 0.2-1% จะทำให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชมากขึ้น ส่วนเรื่องของการมาตรฐานการส่งออกก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าในการกำหนดมาตรฐานว่าต้องการแบบใด ซึ่งแต่ละประเทศก็ต่างกัน ก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น ส่วนเรื่องของสารซีบีดีบริสุทธิ์ 99% นั้น หากเป้นเฉพาะเรื่องของการใช้เป็นสารตั้งต้นจริง ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่อยากให้เขียนให้ชัดในประกาศ เพื่อไม่เกิดปัญหาการตีความในอนาคต

เมื่อถามว่า ประชาชนหรือภาคเอกชนจะสามารถปลูกกัญชงได้เมื่อไม่  นพ.ธเรศ กล่าวว่า กฎกระทรวงเดิมเกี่ยวกับกัญชง เขียนว่าผู้อนุญาตการปลูกต้องเป็นภาครัฐ เราได้รับมอบจากท่านรองนายกฯ ในการปรับแก้กฎกระทรวง เพื่อให้เอกชนเข้ามาขออนุญาตปลูกได้ แต่ต้องเป็นคนภายในประเทศเท่านั้น ขณะนี้กฎกระทรวงเนื้อหาหลักครบถ้วนแล้ว เหลือการรับฟังความเห็นจากโฟกัสกรุ๊ป และการทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจะเสนอ รมว.สธ.ลงนาม และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป ส่วนเรื่องของสายพันธุ์คงต้องขอหารือในรายละเอียดก่อน แต่ตามกฎกระทรวงเดิมภาครัฐต้องอนุญาต และต้องเป็นพันธุ์ที่มีการรับรอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์เน้นเส้นใยเป็นหลัก ขึ้นทะเบียนแล้ว 4 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบัน สถาบันวิจัยพื้นที่สูงได้พัฒนาสายพันธุ์อยู่ ซึ่งข้อเสนอเรื่องของการกำหนดทีเอชซีก็จะนำกลับมาทบทวน

"กัญชาและกัญชงยังคงเป็นยาเสพติด แต่มีการปลดล็อกบางส่วนตามที่ระบุไปที่ไม่ต้องเป็นยาเสพติด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ทำอาหารหรือเครื่องสำอางได้เลย เพราะต้องยังต้องออกกฎหมายรองรับอีก โดยจะมีการพิจารณาปรับแก้ประกาศกระทรวงฯ เกี่ยวกับเครื่องสำอาง 1 ฉบับ โดยให้นำน้ำมันจากเมล็ดกัญชงและเมล็ดกัญชงใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้ และแก้ประกาศกระทรวงเกี่ยวกับอาหาร 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการกำหนดให้นำเมล็ดกัญชงและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงใช้ในอาหารได้ และกำหนดมาตรฐานของอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชง ซึ่งที่ต้องออกกฎหมายรองรับ เพราะที่ผ่านมาเรากำหนดห้ามเอายาเสพติดมาทำอาหาร จึงต้องออกประกาศปลดล็อกบางส่วนออกจากยาเสพติด และประกาศว่าเป็นสารที่มีประโยชน์ในการนำมาใช้ผลิตภัณฑือาหารและเครื่องสำอางได้" นพ.ธเรศ กล่าว

เมื่อถามถึงประโยชน์ของเมล็ดกัญชง  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีกัญชาสายพันธุ์ที่มีทีเอชซีค่อนข้างมาก แต่ปัญหาของทางการแพทย์ต้องการซีบีดีมากกว่า และเนื่องจากเรามีกัญชาซีบีดีน้อย ซึ่งการที่ทางสธ.จะพยายามเอากัญชงมาใช้ประโยชน์ในเรื่องซีบีดีไม่ใช่แค่เส้นใย แต่ปัญหาคือ สายพันธุ์กัญชงที่เรามียังมีน้อย ยิ่งกำหนดให้มีทีเอชซี 0.2% ยิ่งมีจำนวนน้อยแค่ 4 สายพันธุ์ ทั้งที่ปัจจุบันมีกัญชงสายพันธุ์อื่นๆ อีก อย่างล่าสุดมีข้อมูลว่ามีกัญชงในประเทศไทยอีก 4 สายพันธุ์ที่มีสารทีเอชซี 0.7-0.8% ซึ่งเกินกำหนด ตรงนี้ก็ต้องมาผลักดันเพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนในร่างกฎหมายใหม่ที่อย.กำลังดำเนินการ สำหรับเมล็ดกัญชง เป็นที่ปรารถนาทั่วโลก เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือโอเมกา 3 มีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 รายงานใหญ่ พบว่า โอเมกา3 ป้องกันเส้นเลือดตีบตันในคนที่เคยเป็นโรคหัวใจแล้วได้เกือบ 20% ช่วยคนหัวใจวายไม่เกิดซ้ำอีก ซึ่งกัญชงมีประโยชน์มากกว่าที่เรานึก เพราะต้นหรือร่างนำมาทำเส้นใยได้ ใบและดอกมีสารซีบีดี และเมล็ดกัญชงที่มีโอมเกา 3 และ 6


กำลังโหลดความคิดเห็น