xs
xsm
sm
md
lg

7 รพ.ใน กทม.ใช้ระบบส่งต่อผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมนำร่องแอปพลิเคชันเชื่อมโยงข้อมูลรักษา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สปสช.เยี่ยมชม รพ.ภูมิพลอดุลยเดช รุกพัฒนา “ระบบการส่งต่อ-ส่งกลับ ข้อมูลสุขภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ฯ” ต่อเนื่อง ดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยบริการปฐมภูมิ - รพ. เพิ่มความแม่นยำข้อมูล และลดเวลารอคอยพบหมอ เตรียมนำร่องแอปพลิเคชันเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาดูแลผู้ป่วย พร้อมเผยในพื้นที่ กทม. มี 7 รพ.เดินหน้าระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงพยาบาลภูมิพล - นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานของ “โครงการระบบการส่งต่อ-ส่งกลับ ข้อมูลสุขภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกรุงเทพมหานคร” (Bangkok e-Referral Healthcare System) โดยมี พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ให้ข้อมูลการดำเนินงานโครงการของโรงพยาบาล

พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า โรงพยาบาลภูมิพล แม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ด้วยประชากรในพื้นที่หนาแน่นกว่า 170,000 คน ทำให้แต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก โดยเฉพาะบริการผู้ป่วยนอกที่มีจำนวนถึง 500 คนต่อวัน ไม่นับรวมผู้ป่วยที่รับส่งต่อ 250 คนต่อวัน ดังนั้นจำเป็นต้องกระจายผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่โดยรอบเพื่อลดความแออัดและการรอคิวรับบริการ แต่ก่อนอื่นจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยก่อน โดยแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคการส่งต่อระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาล จึงได้มีการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมโยงการรักษาแบบไร้ร้อยต่อ

พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์ กล่าวต่อว่า ระบบการส่งต่อ-ส่งกลับข้อมูลสุขภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ฯ เริ่มต้นจากโครงการลดความแออัดในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี 2549 หลังจากนั้นมีการพัฒนาเพื่อให้แต่ละโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.เข้าร่วมด้วย ซึ่ง อปสข.เขต กทม. รวมถึงคณะทำงานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในเขตกรุงเทพมหานคร และคณะทำงานกองทุนสาขากรุงเทพมหานคร โดย สปสช.เขต 13 กทม.ได้ร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดระบบเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิ พัฒนาระบบดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน และระบบสำรวจสภาวะสุขภาพในชุมชน รวมถึงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและการรักษาไปยังสมาร์ทโฟนโดยผ่านแอปพลิเคชัน

ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ป่วยรับบริการผ่านระบบนี้ 5,000-6,000 ครั้งต่อเดือน โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังห้องตรวจซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาที่ศูนย์ประสานงานเพื่อยื่นเรื่องส่งต่อ ทำให้ลดเวลาการพบแพทย์ได้จาก 77 นาที เหลือเพียง 33 นาที มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลส่งต่อที่มีความแม่นยำ นอกจากนี้ยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยนอกซึ่งปัจจุบันที่ รพ.ภูมิพลฯ เหลือเพียง 30 คนต่อวัน

“ขณะนี้ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ อยู่ระหว่างการนำร่อง Mobile Application BAH Connect ที่เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยบนสมาร์ทโฟน โดยร่วมกับ สปสช. สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ผ่านมาตรฐานข้อมูลของระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ประวัติการรักษา ข้อมูลนัดหมาย ข้อมูลแพ้ยาและการแพ้อื่น และข้อมูลสิทธิการรักษา เป็นต้น นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของ รพ.ภูมิพลฯ ในการพัฒนาเพื่อดูแลผู้ป่วย” ผอ.รพ.ภูมิพล กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ระบบการส่งต่อ-ส่งกลับ ข้อมูลสุขภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกรุงเทพมหานคร เป็นระบบที่ รพ.ภูมิพลฯ พัฒนาขึ้น และต่อมาได้รับการสนับสนุนให้ขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ในเขต กทม.เพื่อปรับปรุงแก้ปัญหาความไม่สะดวกและความไม่มั่นใจของประชาชนที่ถูกกระจายประชากรไปอยู่ที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยในการส่งต่อเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลจะประสบข้อจำกัดที่สร้างความยุ่งยาก นอกจากทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกอาทิ การออกใบส่งต่อมีอายุ 1 วัน, กำหนดวันในการออกใบส่งต่อ, ลายมือแพทย์ในใบส่งต่ออ่านยาก และประชาชนเสียเวลาในการเดินทางไปรับใบส่งต่อ ยังทำให้เจ้าหน้าที่ส่งต่อและรับส่งต่อมีภาระในการประสานงาน รวมถึงขาดการประสานข้อมูลการรักษาของหน่วยบริการในแต่ละระดับ

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ผลการจากพัฒนาระบบการส่งต่อ-ส่งกลับ ข้อมูลสุขภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและลดความซ้ำซ้อนในการรักษา ลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกของประชาชนในการส่งต่อส่งกลับ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์จะมีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังทำให้มีมาตรฐานกลางข้อมูลระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการรับ-ส่งผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการระบบการส่งต่อ-ส่งกลับ ข้อมูลสุขภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มี 7 แห่ง ดังนี้ 1.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 2.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ 3.โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี 4.โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า 5.โรงพยาบาลตากสิน 6.โรงพยาบาลราชวิถี และ 7.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล



กำลังโหลดความคิดเห็น